วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

Food for thought – ลายแทงแห่งความรวย (How to get rich) - Part I

ผมเป็นแอคชัวรีมาก็มากกว่าทศวรรษแล้ว งานที่ทำอยู่ทุกวันก็เป็นการเน้นหนักไปกับเรื่องการทำให้บริษัทรวยขึ้นเป็นส่วนใหญ่ วันทั้งวันนั่งแต่คิดวางแผนทางการเงินหรือประเมินค่าของบริษัทในอีก 30 ถึง 50 ปีข้างหน้า (เอาแบบประมาณว่าให้คนทำนั้นล้มหายตายจากกันไปข้างหนึ่ง) และที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพราะงานของแอคชัวรีจะต้องเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและประเมินเครื่องมือทางการเงินในระยะเวลายาวชั่วคน เช่น แบบประกันชีวิต หรือ กองทุนเงินบำนาญ เป็นต้น หนำซ้ำยังต้องรู้จักเครื่องมือการลงทุนทุกแบบในตลาดชนิดครบวงจรก็ว่าได้ เลยทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมองอะไรให้ยาวๆ เผื่อเตรียมการณ์ทุกอย่างไว้ล่วงหน้า

แล้วเมื่อเลือดของแอคชัวรีได้ซึมเข้าสายเลือดอย่างนี้แล้วก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องวางแผนการเงิน (ฉบับแอคชัวรี) ของตัวเอง โดยตัวเอง และเพื่อตัวเอง เอาไว้เหมือนกัน โดยใช้ประสบการณ์จากการที่ได้มองเห็นกระแสเงินสดที่ได้ทำการประเมินการระยะยาวในสถานการณ์ต่างๆ มานานนับแรมปีแล้วมาประยุกต์ใช้เข้ากับชีวิตน้อยๆ ของแอคชัวรีคนหนึ่งเพื่อให้มองเห็นตัวตนถ่องแท้ของ เงิน ชนิดที่ตัวผมเองก็ยังนึกสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีใครสอนเคล็ดลับอันนี้ให้ผมรู้มาก่อน

ใช้ประสบการณ์จากการที่ได้มองเห็นกระแสเงินสดที่ได้ทำการประเมินการระยะยาวในสถานการณ์ต่างๆ มานานนับแรมปีแล้วมาประยุกต์เพื่อให้มองเห็นตัวตนถ่องแท้ของ เงิน

 แม้กระทั่งผมเรียนจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมการเงินมาแล้วก็ตาม มันก็ยังหาในตำราเรียนหรือหลักสูตรที่ไหนไม่เคยเจอซักที โชคดีที่งานที่ทำอยู่มีส่วนช่วยทำให้รู้กระจ่างและถึงบางอ้อได้เร็วขึ้น แต่ก็เสียเวลาลองผิดลองถูกไปมากกว่าสิบปีเข้าซะแล้ว

ทำไมถึงต้องมีลายแทง
ความรวยก็เปรียบเสมือนกับสมบัติ และการจะหาสมบัติให้เจอได้ก็ควรจะต้องอาศัยลายแทง ไม่เช่นนั้นหาสมบัติไปทั้งชีวิตก็คงจะไม่เจอ ยกเว้นสมบัติจะตกลงมาจากฟ้าเหมือนถูกล็อตเตอรี่ ส่วนพวกที่มีอันจะกินหรือรวยล้นฟ้านั้นก็คงมีเจ้าคุณพ่อเขียนลายแทงประจำตระกูลไว้ให้เรียบร้อยแล้ว  เพราะฉะนั้นการที่จะรวยได้นั้น ผมว่าเราต้องเริ่มจากการหาลายแทงซะก่อน แล้วทำความเข้าใจพร้อมกับถอดรหัสกับมัน จากนั้นหนทางไปสู่เป้าหมายที่กากบาทไว้ในลายแทงก็คงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม

ความรวยก็เปรียบเสมือนกับสมบัติ และการจะหาสมบัติให้เจอได้ก็ควรจะต้องอาศัยลายแทง โดยการที่จะรวยได้นั้น จะต้องเริ่มจากการหาลายแทง แล้วทำความเข้าใจพร้อมกับถอดรหัสกับมัน

นี่เป็นความเชื่อของผมตั้งแต่สมัยเด็กๆ และมันก็เป็นความจริงที่ว่าการหาลายแทงที่ถูกต้องแม่นยำให้เจอได้นั้นมันยากมากๆ เพราะจากการอาศัยวิจารณญาณส่วนตัวแล้วผมยังเห็นว่าคำแนะนำบางอย่างในท้องตลาดนั้น เป็นการแนะนำที่มองภาพได้ไม่ครบวงจรและไม่ถูกต้องซักทีเดียว ถ้าไปเชื่อเข้าก็จะเสียเงินและเสียใจโดยใช่เหตุ

หลังจากคิดตลบหน้าและตีลังกาหลังเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ นี้แล้ว ในที่สุดผมจึงตัดสินใจอยากที่จะแบ่งปันลายแทงแห่งความรวยฉบับกะทัดรัดใบนี้ให้กับคนอื่นๆ ด้วย เพื่อคนที่อ่านลายแทงฉบับนี้จนเข้าใจแล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปงมเข็มในมหาสมุทร และสิ่งที่จะได้อ่านต่อไปนี้ก็ไม่ใช่วิธีการหาสมบัติ แต่จะเป็นแนวทางที่ผมได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์เพื่อใช้เป็นวิธีในการค้นหา  ลายแทงแห่งความรวย” ให้คนที่ได้อ่านไปถึงหนทางสู่ความรวยได้โดยไม่ต้องไปเข้าเรียนหลักสูตรใดๆ ทั้งนั้น แค่นับตัวเลขในสมุดบัญชีเงินฝากให้เป็นก็พอ

ทำความรู้จักกับความรวยกันก่อน
ก่อนอื่นถ้าเราอยากจะรู้หรือไปให้ถึงเป้าหมายอะไร ก็ต้องเข้าใจความหมายของสิ่งๆ นั้นให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะถ้าอยากจะขึ้นภูกระดึงแต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหน หรือดีอย่างไร เดินดุ่ยๆ ไปเรื่อยๆ ก็คงตายกลางทางเสียก่อน

เคยถามตัวเองไหมครับว่าความรวยคืออะไร แต่ผมก็เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะตอบว่าความรวยคือการมีเงินเยอะๆ (และผมเองก็เป็นหนึ่งที่เคยตอบแบบนั้น) แล้วก็คงจะมีคนอีกประเภทที่จะตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สนใจ อันคนอื่นจะรวยยังไงก็เรื่องของคนอื่น แบบประมาณว่าชีวิตนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่สน ขอแค่อยู่มีลมหายใจไปวันๆ ก็พอ ซึ่งแบบหลังนี้ถือเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพราะถ้าใครไม่คิดอยากจะรวยก็หมายถึงการยอมรับอยู่กับความจนในภายภาคหน้า และก็ขออย่าให้ตกหลุมในโลกของความ เช้าชามเย็นชามก็แล้วกัน ซึ่งผมก็เชื่อจริงๆ นะครับว่ามีคนแบบนี้อยู่เยอะเหมือนกัน ต้องขอย้ำว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีตราบใดที่ยังทำให้ตัวเองและครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องติดหนี้ยืมสินจนหัวบาน แต่ก็อย่าลืมนะครับว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่ได้สอนให้คนไทยเป็นคนจนเหมือนกัน

คำว่ารวยในที่นี้ควรจะหมายถึงการที่มีชีวิตทางโลกอยู่ได้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เดือดร้อนอะไร หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือสภาวะของการหลุดพ้นจากอำนาจของเงินนั่นเอง

ก่อนอื่นก็ทำความรู้จักกับคำว่า รวยซะก่อนเพื่อที่จะได้กำหนดเป็นเป้าหมายของเรา คำว่ารวยในที่นี้ควรจะหมายถึงการที่มีชีวิตทางโลกอยู่ได้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เดือดร้อนอะไรหรือจะบอกว่าเป็นความมั่นคงในชีวิตที่ปลอดหนี้ซะมากกว่า ถ้าจะกล่าวสั้นๆ ในคำพูดของผมก็คือการที่คนเรามีอิสระทางการเงิน ไม่ต้องมานั่งนึกว่าพรุ่งนี้หรืออนาคตข้างหน้าจะเอาอะไรกินจะมีเงินใช้หนี้เจ้าหนี้ไหม

หรือถ้าจะพูดให้เป็นอีกความหมายหนึ่งก็คือความรวยคือสภาวะของการหลุดพ้นจากอำนาจของเงินนั่นเอง คำว่าหลุดพ้นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้หนีเข้าป่าไปแล้วไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเงิน แต่ความหมายของมันลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ผมหมายถึงการที่เรานั่งหายใจอยู่เฉยๆ ก็มีเงินไหลเข้ามา เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่าเราต้องไม่ทำงานเพื่อเงิน แต่ต้องให้เงินทำงานเพื่อเรา

วัฎสงสารของเงิน
ผมขอใช้คำนี้เพราะมันให้เนื้อหาที่ตรงประเด็นกับสิ่งที่ผมอยากจะถ่ายทอดให้มากกว่า การที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของเงินได้นั้นเราต้องมาทำความเข้าใจกับ “วัฎสงสารของเงิน” กันก่อนว่ามันมีการเกิดและดับอย่างไร (ฟังดูเหมือนเป็นธรรมะแต่จริงๆ แล้วฉาบไปด้วยกิเลส)

เริ่มจากพื้นฐานเบื้องต้นก่อน โดยเราจะรู้ว่ามีเงินไหลเข้าออกจากกระเป๋าเราได้หรือมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าเท่าไร ก็่ต่อเมื่อเรานั่งนับและจดเอาไว้

เงินที่ไหลเข้าหรือออกจากกระเป๋าของเราเรียกว่ารายได้ (earning) หรือค่าใช้จ่าย (expense) ส่วนเวลาที่จะนั่งนับเงินที่เหลืออยู่ในกระเป๋าก็ต้องดูที่สินทรัพย์ (asset) กับหนี้สิน (liability)

ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องรู้เสียก่อนว่าเงินที่ไหลเข้าหรือออกจากกระเป๋าของเราเรียกว่ารายได้ (earning) หรือค่าใช้จ่าย (expense) ส่วนเวลาที่จะนั่งนับเงินที่เหลืออยู่ในกระเป๋าก็ต้องดูที่สินทรัพย์ (asset) กับหนี้สิน (liability) ซึ่งใครที่มีพื้นฐานทางบัญชีก็คงบอกว่าทำไมมันง่ายอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นการง่ายเลยที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าใครจะมีพื้นฐานทางบัญชีกันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม

ถ้าเรามองอย่างผิวเผินทั่วไปแล้วก็จะบอกว่าการที่จะทำให้มีเงินเยอะขึ้นได้ก็ต้องพยายามทำให้รายได้เพิ่มขึ้นน่ะสิ ซึ่งผมต้องขอแสดงความยินดีกับคนที่ตอบว่าใช่ด้วยนะครับ เพราะบทความนี้กำลังจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านอย่างมากทีเดียว เนื่องจากคุณได้ตกหลุมพรางหลุมน้อยๆ ที่ผมก็เคยตกมามากกว่าสิบปีเหมือนกัน

เน้นจัดการที่รายได้หรือสินทรัพย์ดี
ใช่แล้วครับ ถ้ามัวแต่ไปเน้นผิดจุดก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คันหรือให้ดอกไม้ไม่ตรงใจหญิง ก่อนอื่นก็ต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อกับวิธีคิดกันนิดหน่อยที่ว่าการมีรายได้หรือเงินเดือนเพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้รวยได้เสมอไปซึ่งมันไม่เป็นความจริงครับ

คนเราจะพ้นวัฎสงสารของเงินได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ให้เงินมันมาทำงานให้เราเอง ไม่ใช่เราไปทำงานเพื่อเงิน

สิ่งที่ถูกต้องคือเราควรจะต้องตอบโจทย์ตอนต้นของเราให้ได้ก่อนว่าการที่คนเราจะพ้นวัฎสงสารของเงินได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ให้เงินมันมาทำงานให้เราเอง ไม่ใช่เราไปทำงานเพื่อเงิน ดังนั้นถ้าจะให้ถูกต้องก็คือเราต้องตั้งเป้าหมายให้มีสินทรัพย์เพียงพอที่จะออกดอกแตกผลให้ออกมาเป็นรายได้จุนเจือค่าครองชีพในแต่ละวันของเราให้ได้นั่นเอง

ต้องตั้งเป้าหมายให้มีสินทรัพย์เพียงพอที่จะออกดอกแตกผลให้ออกมาเป็นรายได้จุนเจือค่าครองชีพในแต่ละวันของเราให้ได้

ดังนั้นการเน้นที่ตัวสินทรัพย์ให้เพิ่มพูนขึ้นต่างหากจึงจะเป็นหนทางแห่งการก้าวไปสู่ความรวยได้ การมัวแต่จะคิดทำให้เงินเดือนหรือรายได้ประจำแต่ละเดือนสูงขึ้นนั้นยังเป็นการรักษาไม่ตรงจุด มันอาจจะทำให้รวยได้ก็ต่อเมื่อมันไปเพิ่มพูนสินทรัพย์ที่สามารถงอกเงยรายได้ต่อๆ ไปได้ต่างหาก

ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่อาจต้องการมีรายได้ก่อนถึงจะสร้างสินทรัพย์ได้ก็ตาม (เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาพร้อมกับการคาบช้อนเงินช้อนทอง) แต่เป้าหมายหนึ่งเดียวในใจของเราก็คือการปลูกต้นสินทรัพย์ให้โตพอที่จะออกดอกออกผลเก็บกินเองได้ ไม่ใช่คอยแต่จะรอดอกผลหรือรายได้ประจำแต่ละเดือนจากการที่ไปทำงานปลูกต้นสินทรัพย์ให้คนอื่นเขา

เป้าหมายหนึ่งเดียวในใจของเราก็คือการปลูกต้นสินทรัพย์ให้โตพอที่จะออกดอกออกผลเก็บกินเองได้

สิ่งที่สำคัญในการปลูกต้นสินทรัพย์ก็คือการที่เราสามารถนำรายได้ไปใช้ได้อย่างฉลาด (ไม่เสียของ) เพื่อเสริมสร้างความรวยให้เรา ยกตัวอย่างการนำรายได้ที่ได้ไปใช้อย่างเสียของก็เช่น ถ้าเรานำรายได้ที่ได้มาไปซื้อ รถคันใหม่ บ้านหลังงาม โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด หรือแม้แต่กิ๊กแกะกล่องคนใหม่นั้น ลองคิดดูสิครับว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ แท้ที่จริงแล้วมันกลับนำมาซึ่งการสูญเสียสภาพคล่องและสูญเสียโอกาสการลงทุนในอนาคตอีกต่างหาก เพราะสินทรัพย์เหล่านี้ไม่สามารถออกดอกออกผลให้เราได้ หนำซ้ำยังมีแต่จะเสื่อมมูลค่าไปต่างหาก

ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรถยนต์มาราคาล้านบาท ขับได้สักพักหนึ่งก็ขายคืนได้ราคาเพียงครึ่งเดียว แถมช่วงที่ขับโก้อยู่ก็ต้องเสียเงินเติมน้ำมันให้เสียอีก ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการลดรายได้เพราะต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งไปกับค่าน้ำมัน ดังนั้นรถยนต์คันนี้จึงไม่ได้ถือเป็นสินทรัพย์ที่ทำให้เรารวยได้ครับ มันอยู่เป็นสินทรัพย์ของเราได้เดี๋ยวเดียวแล้วมันก็เหี่ยวเฉาไป เฉกเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือครับ ซื้อมาสักพักหนึ่งก็ราคาตกแถมยังต้องเสียค่าโทรอีก โดยเฉพาะฝ่ายผู้ชายจะเสียเงินเยอะกว่าหน่อยเพราะคุณผู้หญิงอาจเป็นฝ่ายยิงแล้วก็มิสต์คอลให้ฝ่ายชายโทรกลับ อันนี้ไม่ผิดอะไร (แต่ถ้าฝ่ายชายลองทำดูบ้างสิอาจจะถูกตำหนิได้)

การจะปลูกต้นสินทรัพย์ให้งอกงามได้จึงขึ้นอยู่กับการนำรายได้และรายจ่ายไปใช้ทำอะไร

การจะปลูกต้นสินทรัพย์ให้งอกงามได้จึงขึ้นอยู่กับการนำรายได้และรายจ่ายไปใช้ทำอะไร ดังนั้นมันจึงบอกอยู่กลายๆ ว่าการบริหารรายจ่ายและภาษีนั้นเป็นปัจจัยหลักของหลักการนี้ที่มองข้ามไม่ได้ทีเดียว หลายคนคิดว่าถ้าจะรวยขึ้นก็ต้องหารายได้ให้เพิ่มขึ้นใส่กระเป๋าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ดันลืมตอนที่มีคนดึงเงินเราออกจากกระเป๋า (หรือเต็มใจให้เขาดึง) ไปอย่างไม่รู้ตัว

วิธีการลดค่าใช้จ่ายกับการบริหารภาษีนั้นก็ง่ายซะยิ่งกว่าการหารายได้เพิ่มเสียอีก ถ้าจับหลักได้ถูกต้องก็จะมีเงินเหลือไปปลูกต้นสินทรัพย์ได้เร็วขึ้น ชีวิตที่เหลือก็จะสบาย จำไว้ว่าถ้ารายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นซึ่งเราต้องหาทางลดภาษีให้ได้มากที่สุด ส่วนรายจ่ายที่ลดลงได้นั้นมีค่าเท่ากับการเพิ่มรายได้หลังจากหักภาษีเสียด้วยซ้ำ สรุปเป็นความหมายสั้นๆ ว่าถ้าเงินเดือนขึ้น 1000 บาท แล้วต้องเสียภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้เหลือเงินเก็บใส่กระเป๋าแค่ 900 บาท แต่ถ้าลดรายจ่ายได้ 1000 บาท เงินจำนวนนั้นก็จะเข้ากระเป๋าไปเต็มๆ เคล็ดลับอันนี้ต้องสอนให้รู้กันตั้งแต่เด็ก

มีทางลัดหรือไม่
สำหรับคนที่ถามว่าแล้วมีวิธีทางลัดอย่างอื่นที่ทำให้รวยได้ไหม แน่นอนครับผมก็มีไม้ตายต้นหีบเก็บไว้อยู่เหมือนกันแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้ทางลัดได้เสมอไป แต่รู้ไว้ก็ใช่ว่าใช่ไหมครับ แน่นอนว่าเป้าหมายเรายังไม่เปลี่ยน เรายังเน้นที่ตัวสินทรัพย์ให้เพิ่มพูนเพื่อเป็นหนทางแห่งการก้าวไปสู่ความรวยได้ ซึ่งในโลกธุรกิจนั้นมีคำหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปที่เค้าเรียกกันว่าการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition)” เพื่อให้ได้มาซึ่งทั้งสินทรัพย์และหนี้สินของอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้นการประเมินค่าของบริษัทที่ต้องการจะควบจึงมีความสำคัญมาก (ซึ่งนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของงานของแอคชัวรี) และด้วยเหตุนี้ การทำควบรวมกิจการ (M&A) ในชีวิตจริงจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานที่ทำในบริษัทเลย สรุปง่ายๆ ที่ผมกล่าวมาซะยืดยาวเป็นหางว่าวสำหรับทางลัดที่ว่านี้ก็คือให้หาทางแต่งกับคนรวยซะก็หมดเรื่อง ไม่เห็นต้องมานั่งคิดหนทางรวยให้ปวดหัวเลย

ทางลัดที่ว่านี้ก็คือให้หาทางแต่งกับคนรวยซะก็หมดเรื่อง ไม่เห็นต้องมานั่งคิดหนทางรวยให้ปวดหัวเลย

อ้อ! และอีกหนทางหนึ่งก็คืออย่ามองข้ามกองมรดกครับ แล้วถ้าคุณต้องการโอนถ่ายสินทรัพย์ให้กับอีกรุ่นหนึ่ง การประกันชีวิตก็เป็นตัวเลือกที่ดีเหมือนกันเนื่องจากทุนประกันที่ได้ไม่โดนหักภาษี (ต่างจากที่ดินและเงินที่เหลืออยู่ในธนาคาร)

บทสรุป
โดยสรุปแล้วก็คือเราต้องสร้างสินทรัพย์ให้โตพอที่สินทรัพย์จะสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาเองได้เพื่อให้ได้มากกว่าค่าดำรงชีพของเรา และยังเหลือพอที่จะนำกลับไปเพิ่มสินทรัพย์ได้ต่อๆ ไป นี่ละครับที่ว่าทำไมคนรวยยิ่งจะรวยมากขึ้น (ในทางกลับกัน คนจนจะมีแต่จนลงถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย แล้วทำให้ไปเพิ่มหนี้สิน ซึ่งบางคนยังไม่รู้ตัว) ความรวยนี้ไม่สามารถบรรลุได้โดยปราศจากเคล็ดลับและกรอบความคิดที่ถูกต้อง

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 กรกฎาคม 2555 เวลา 08:51

    น่าจะออกเป็นหนังสือนะค่ะ หรือว่าได้ออกหนังสือมาแล้วถ้าออกกรุณาแนะนำชื่อหนังสือให้ด้วยนะค่ะ
    เขียนน่าสนใจมากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ชอบมากค่ะ....อ่านแล้วมีความสุขที่ได้อ่าน

    ตอบลบ