ในปัจจุบันของประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้นำการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนมาเป็นบทเรียนในการเรียนการสอนสำหรับเด็กชั้นประถม โดยนำข้อคิดและตัวอย่างดีๆ จากในการ์ตูนมาวิเคราะห์และสอนเยาวชนรุ่นใหม่ของเขากัน ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็ดีไม่น้อย และยิ่งถ้าเราลองมาพิจารณาหนังหรือการ์ตูนบางเรื่องแล้ว ก็อาจจะทำให้ได้ข้อคิดดีๆ ขึ้นมา โดยไม่ต้องไปอิงตำราหรือบทเรียนแต่อย่างใด
แล้วก็คิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะเอาหนังหรือการ์ตูนเรื่องไหนมาเขียนดี ระหว่างที่คิดอยู่ก็ไปค้นเจอแผ่นหนังที่กะไว้ว่าจะดูเมื่อมีเวลา แต่ก็ยังหาเวลาดูไม่ได้ซักที สุดท้ายจึงได้ฤกษ์เอาเรื่องเชอร์ล็อกโฮมส์ขึ้นมาดูเพื่อวิเคราะห์ว่ามีข้อคิดดีๆ อะไรบ้างที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของคนอ่านได้ และเมื่อวิเคราะห์จนจบแล้วจะเห็นได้ว่าเชอร์ล็อกโฮมส์นั้นมีวิธีคิดหลายๆ อย่างที่แอคชัวรีนำมาใช้กันอยู่ประจำเหมือนกัน
เชอร์ล็อกโฮมส์คือใคร
อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเชอร์ล็อกโฮมส์นั้นเป็นนักสืบ แต่ไม่ได้เป็นนักสืบที่คอยรับจ้างหาข้อมูลหรือนักสืบประเภท "สายลับจับเมียน้อย" แต่เพียงอย่างใด เพราะถ้าทำหน้าที่แค่สืบหาข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นพระเอกในใจของใครต่อใครไม่ได้แล้วสิครับ นักสืบอย่างเชอร์ล็อกโฮมส์นั้นเค้ามีไว้ไขคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือคดีใหญ่มาจากไหน เค้าก็ไขได้หมด และสิ่งที่ทำให้เค้าไขปริศนาในแต่ละคดีได้กระจ่างนั้นไม่ได้มาจากโชคช่วยแต่เพียงอย่างเดียวเป็นแน่
งานที่เชอร์ล็อกโฮมส์ทำทุกครั้งก็คืองานในการแก้ปัญหา และปัญหาส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาของสังคม
จะสังเกตได้ว่างานที่เชอร์ล็อกโฮมส์ทำทุกครั้งก็คืองานในการแก้ปัญหา และปัญหาส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาของสังคม เช่น คดีฆาตกรรมหรือคดีโจรกรรมซึ่งทำให้ผู้เสียหายหรือคนข้างหลังเดือดร้อน ยอดนักสืบคนนี้จะเป็นผู้ที่คอยจับหาตัวคนร้ายและแก้ปัญหาปมซ่อนเงื่อนที่ซับซ้อนให้ออกมาได้อย่างง่ายดายและเป็นขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนในการวิเคราะห์คดีต่างๆ ของเขานั้นสามารถทำได้ฉับไวและแม่นยำ โดยอ้างอิงจากข่าวสารที่ได้รับมาจากการรวบรวมข้อมูลจากสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต พูดคุย หรือสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ให้กับรูปคดีและสาวถึงต้นตอของเหตุการณ์นั้นๆ ได้
วิธีปฏิบัติงานของแอคชัวรี
สำหรับคนที่ติดตามอ่าน "สวัสดีแอคชัวรี" มาตลอดจะรู้ว่าแอคชัวรีมีหน้าที่ในการวิเคราะห์อดีต ประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน และหาทางจำลองเหตุการณ์ในอนาคต หลังจากนั้นจึงทำการวางแผนและเตรียมกลยุทธ์ให้กับองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับโลกของแอคชัวรียุคใหม่ก็คือการสื่อสารเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งนำไปสู่การโน้มน้าวให้ไปถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด
ความเป็นมืออาชีพของแอคชัวรีจำเป็นจะต้องมีวิธีคิดและปฏิบัติเหมือนกับเชอร์ล็อกโฮมส์ ดังต่อไปนี้
- Data collection : ช่างสังเกตและเก็บข้อมูลให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากสถิติของธุรกิจหรือของบริษัทก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงการสอบถามข้อมูลจากส่วนงานต่างๆ เพื่อกลั่นกรองให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจให้มากที่สุด
- Data verification : สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะมีแอคชัวรีจำนวนมากที่โดนข้อมูลหลอกเอาโดยง่าย ซึ่งถ้าข้อมูลที่ได้มานั้นไม่สมบูรณ์แล้วก็ย่อมที่จะทำให้ผลวิเคราะห์ออกมาไม่สมบูรณ์เช่นกัน ดังคำพูดที่ติดปากกันว่า Garbage in Garbage out (หมายถึงใส่ขยะเข้าไป ก็ได้ผลลัพธ์เป็นขยะกลับมา)
- Data selection : เลือกใช้ข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลอยู่มากมาย
- General knowledge : ความรู้รอบตัวเยอะ เพื่อที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจและมองเหตุการณ์ในภายภาคหน้าได้แม่นยำขึ้น
- Intelligence : เป็นผู้นำของข่าวสารในตลาด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือการลงทุนใหม่ๆ (เช่น ตราสารอนุพันธ์) ระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ๆ (เช่น IFRS) วิวัฒนาการทางการแพทย์ใหม่ๆ (เช่น Stem Cell) เทคโนโลยีใหม่ๆ (เช่น รถพลังแสงอาทิตย์) หรือแม้แต่พัฒนาการของโรคใหม่ๆ (เช่น ไข้หวัด 2009)
- Experience Study and Data Analysis : วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตให้เห็นเป็นฉากๆ และร้อยเรียงมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
- Team : รู้จักการทำงานเป็นทีม และหาทีมงานที่เหมาะสม
- History may not repeat itself : ถึงแม้จะมีข้อมูลครบถ้วนแค่ไหนก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าประวัติศาสตร์เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นไปในอนาคต เพราะสำหรับแอคชัวรีแล้ว ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องเตือนใจและให้ข้อมูลทางสถิติโดยแอคชัวรีจะต้องนำมากลั่นกรองอีกทีหนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะต้องใส่วิจารณญาณลงไปเพื่อหาบทสรุปให้ได้ด้วย
- Scenario projection : จำลองเหตุการณ์ในอนาคตหลายๆ เหตุการณ์ตามข้อมูลและสถานการณ์ที่มีในปัจจุบัน
- Implication of Social Security : ทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบ เพราะเป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาที่มีผลกระทบกับสังคมในระยะยาว
- Holistic solution : ปฏิบัติได้จริงเพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ที่จำลองมาให้ได้ผลดีที่สุด
- Risk management : จัดการความเสี่ยงในอนาคตเพื่อเตรียมการกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน
- Strategic Planning and Analysis : วิเคราะห์ วางแผน และกำหนดกลยุทธ์ที่จะดำเนินไปในภายภาคหน้า
- Actuarial Hunch : มีเซ้นส์คาดการณ์ล่วงหน้า รู้ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหนและอะไรเป็นตัวชักนำ
- Robust analysis and sharp decision : วิเคราะห์อะไรได้ไวและตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ
- Elaborate and Articulate: สื่อสารและอธิบายผลให้กับคนรอบข้างได้ดี
- Soft skill : เอาตัวรอดจากสภาะคับขันได้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การมีแค่ "บุ๋น" หรือความรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ
- Lead : นำพาสถานการณ์ให้คลี่คลายไปได้ด้วยดี
จุดเด่นของเชอร์ล็อกโฮมส์ที่แอคชัวรีต้องมี
สิ่งที่เชอร์ล็อกโฮมส์ทำได้มากไปกว่าการเป็นแค่นักสืบนั่นก็คือ การที่สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำมาจำลองเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากหลายๆ เหตุการณ์ตามแต่ข้อมูลและเงื่อนไขของสถานการณ์ที่มี ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่คล้ายคลึงกับแอคชัวรีมาก และแน่นอนที่ว่าสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างแอคชัวรีกับเชอร์ล็อกโฮมส์คือการเป็นคนนำสิ่งที่เขาได้คาดการณ์ไว้ ไปปฏิบัติจริงเพื่อที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ที่จำลองเอาไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างดีที่สุด ซึ่งถ้าภาพเหตุการณ์ที่เขาได้คาดการณ์เอาไว้นั้นเห็นท่าว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายแล้วล่ะก็ เขาก็จะไม่นิ่งนอนใจที่จะหาทางจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเอาไว้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ร้ายๆ เหล่านั้น
สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างแอคชัวรีกับเชอร์ล็อกโฮมส์คือการเป็นคนนำสิ่งที่เขาได้คาดการณ์ไว้ ไปปฏิบัติจริง
สิ่งที่ทำให้เชอร์ล็อกโฮมส์ดูพิเศษแตกต่างจากคนอื่นก็คือการที่จะไม่มีทางหลงกลติดกับดักของข้อมูลในอดีตและในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่เขาต้องทำคือการใช้วิจารณญาณของการเป็นนักสืบเพื่อมองไปข้างหน้าและไขคดีให้ได้ในที่สุด เขาเป็นคนช่างสังเกตและค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางการแพทย์ (กายวิภาค) วิทยาศาสตร์ (เคมี ฟิสิกส์ และธรณีวิทยา) ดนตรี (เล่นไวโอลินเก่งมาก) ศิลปะ (เป็นนักแสดงที่เก่งกาจเพื่อหันเหความสนใจของผู้ต้องสงสัยได้) กีฬา (เป็นทั้งมวยและฟันดาบ) กฎหมาย (รู้เรื่องกฎหมายอังกฤษเป็นอย่างดี) อาชญวิทยา หรือแม้กระทั่งข่าวสารต่างๆ รอบตัว
และเนื่องด้วยเชอร์ล็อกโฮมส์เป็นคนชอบอ่านหนังสือและยังเป็นนักคิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนแอคชัวรี จึงทำให้เชอร์ล็อกโฮมส์เป็นคนที่มีความรู้รอบตัวที่จะเอามาประยุกต์ใช้ในงานของเขาเองได้เยอะ มีคอนมอนเซ้นส์ (Common sense) ที่เอาไว้มองเหตุการณ์ได้ล่วงหน้า โดยอาศัยความรู้ที่สะสมมาพร้อมกับการสังเกตและปะติดปะต่อข่าวสารต่างๆ จนกลายเป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียงขึ้นมาจัดการกับรูปคดีที่ยากๆ และช่วยให้เขารอดพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายได้
การที่จะตัดสินใจทำการใหญ่อะไรซักอย่างในปัจจุบันนี้จะต้องมีหลักฐานหรือตัวเลขมาสนับสนุนการตัดสินใจ
ซึ่งถ้ากลับมามองโลกแห่งธุรกิจในปัจจุบันนี้ แอคชัวรีจะต้องเป็นคนที่สามารถมองไปข้างหน้าให้ได้ไกลและแม่นยำที่สุด การที่จะตัดสินใจทำการใหญ่อะไรซักอย่างในปัจจุบันนี้จะต้องมีหลักฐานหรือตัวเลขมาสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งการที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลในอดีตประกอบกับวิจารณญาณเพื่อที่จะนำมาใช้วางแผนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม
นอกจากจะต้องเก็บข้อมูลให้เหมาะสมและมากพอแล้ว ความรู้รอบตัวของแอคชัวรีก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ใช้ในการตีความตัวเลขหรือประกอบการพิจารณากลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์ (เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตหรือสุขภาพของคน) ความรู้ด้านกฎหมาย (เมื่อต้องพิจารณาร่างหรือตีความสัญญากรมธรรม์) ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ) ความรู้ทางด้านการเงิน ความรู้ทางด้านการลงทุนไม่ว่าในหรือนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งความรู้ทางด้านการตลาดและข่าวสารรอบตัว
ติดตามตอนต่อไป
ในฉบับถัดไป เราจะได้รู้ว่าเซ้นส์ของแอคชัวรีกับเชอร์ล็อกโฮมนั้นได้มาจากไหน และเมื่อกล่าวถึงเชอร์ล็อกโฮมส์แล้วก็คงจะมองข้ามผู้ช่วยมือดีของเขาไปไม่ได้ ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่อง “เชอร์ล็อกโฮมส์ ดับแผนพิฆาตโลก” ก็ขอให้ไปดูกันไว้ก่อน เพราะเราจะมาวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ในมุมมองใหม่ๆ กัน ก่อนที่จะจบตอนกับการตามหาความจริงกับสโลแกนของเชอร์ล็อกโฮมที่ว่า "ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง”
แล้วพบกับตอนจบของ “แอคชัวรี – เชอร์ล็อกโฮมส์ในโลกธุรกิจ” ในตอนหน้าครับ
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น