วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

สวัสดีจากโลกในทศวรรษหน้า

ไหนๆ ก็เป็นแอคชัวรีแล้ว ผมก็เลยมาลองคิดดูเล่นๆ ว่าในทศวรรษหน้านั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวของแอคชัวรีกันบ้าง ตอนแรกกะว่าจะเขียนถึง 100 ปีข้างหน้าเลย แต่เมื่อคิดๆ ดูแล้ว เดี๋ยวจะกลายเป็นหมอดูไปเสียเปล่าๆ เอาแค่ประมาณ 10 ปีข้างหน้าก็พอ เพราะยังพอเห็นภาพลางๆ อยู่ ซึ่งจะจริงไม่จริง ถูกต้อง 100% หรือไม่นั้น ก็คิดว่าอ่านกันเพลินๆ อย่าได้เก็บเอามาจริงจังก็แล้วกันครับ
เอาเป็นว่า ผมอยากให้เราทุกคนลองหมุนเวลามาอยู่ในปี 2020 กันดู (ซึ่งก็คือปี พ.ศ. 2563 ในปีปฏิทินไทย) แล้วทำเป็นมองย้อนหลังว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น และกำลังจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง ลองมาดูกันครับ
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเย็นวันหนึ่งในปี 2020
ตอนนี้ผมนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ที่วางอยู่ในสวนหลังบ้าน วันนี้ไม่ได้เข้าไปในออฟฟิศอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เป็นเพราะว่าปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ตัวเก่งของผมสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลนับล้านกรมธรรม์ของบริษัทได้ แถมยังสามารถจัดการกับระบบฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็วถูกต้องอีกด้วย ด้วยอารมณ์ที่อยากจะทำงานและปิดโปรเจคให้เสร็จจึงทำให้วันนี้ผมตัดสินใจขลุกอยู่กับบ้าน เผื่อว่าจะได้มีเวลาไปออกกำลังกายและใช้เวลากับครอบครัวได้เยอะๆ หลังจากเลิกงาน
งานกลับเสร็จไวและราบรื่นกว่าที่คิด ทำให้เหลือเวลามาเขียนสวัสดีแอคชัวรีฉบับที่ 55 ประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อปิดต้นฉบับให้เสร็จ ก่อนที่จะไปว่ายน้ำและเล่นกับลูกๆ ในตอนหัวค่ำ
ว่าแล้วก็นั่งคิดถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยยังเป็นแอคชัวรีหนุ่มๆ อยู่ มีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย ผมเลยเอามาเขียนใส่ในสวัสดีแอคชัวรีเหมือนเคย และเอาเป็นว่าตอนนี้ผมกำลังนั่งคิดว่าโลกใน 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2010 ถึง ตอนนี้) กำลังจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เราลองมาดูมุมของของแอคชัวรีคนนี้กันครับ
เศรษฐกิจในปี 2020
เศรษฐกิจโลกก็ค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2012 แต่ผลที่ตามมาก็คืออัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นมากกว่า 10% ต่อปีไปซะแล้ว เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาและประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศที่ได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาทางการเงินภายในของอเมริกาก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ คนที่ชอบเป็นหนี้ก็ยังเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิม กับเรื่อง subprime mortgage ก็ยังไม่น้อยหน้า เพราะยังแก้ปัญหากันไม่หมด
ประเทศจีนกับอินเดียกลับกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจโลกแทน แต่อย่างไรก็ตามประเทศทางแถบยุโรปและญี่ปุ่นก็คอยพยุงเศรษฐกิจกันอยู่อย่างต่อเนื่อง
ส่วนสภาพสังคมของประเทศกำลังพัฒนาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสังคมเดี่ยว ที่มีแต่ พ่อ แม่ และ ลูก ทำให้ผู้คนต่างๆ ทั่วโลกพากันนึกถึงเรื่องการเกษียณของตัวเองกันมากขึ้น
คนในยุคของ baby boomer ก็เข้าสู่ช่วงวัยเกษียณกันหมด โดยเฉพาะที่ในอเมริกาที่มีปัญหาเรื่องสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอเอาซะด้วย เนื่องจากพิษของเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มมากระเตื้องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ก็ยังไม่ทันกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องใช้ในยามเกษียณ และยิ่งไปกว่านั้น ก็ดูเหมือนว่าคนสูงอายุเหล่านี้จะมีอายุยืนกว่าที่แอคชัวรีได้คำนวณไว้ จึงยังเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะรุนแรงและต่อเนื่องต่อไปอีก 10 ปีหลังจากนี้
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบริษัทหรือนายจ้างส่วนใหญ่จะเสนอแบบ Defined Contribution แทนที่จะเป็น Defined Benefit และก็อยากจะเปลี่ยนคนที่ถือแบบ Defined Benefit ให้เป็น Defined Contribution กันทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะบริษัทหรือนายจ้างจะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทางด้านการลงทุน เนื่องจาก Defined Contribution จะคล้ายๆ กับการลงทุนในกองทุนรวม ถ้าได้ก็ได้ ถ้าเสียก็เสีย ซึ่งแบบนี้ก็คงเหมือนกับแบบที่บริษัทในประเทศไทยได้ใช้กันเมื่อ 10 กว่าปีก่อนมาแล้ว ส่วน Defined Benefit ก็คงจะเปรียบเสมือนกับแบบบำเหน็จบำนาญของระบบราชการในประเทศไทยที่มีใช้กันมานมนาน
ในยุคนี้การออกแบบประกันชีวิตก็จะยากขึ้น เพราะกลุ่มคนในแต่ละยุคก็มีแนวโน้มของอัตรามรณะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ยุคของเด็กสมัยใหม่ที่คนทั่วไปเค้าเรียกว่า McDonald’s cohort กันตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ junk food และทำให้เป็นโรคอ้วนกันตั้งแต่เด็ก เพราะโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นจะทำให้เซลล์ไขมันขยายตัวเกินปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการลดน้ำหนักให้เหมาะสมเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วได้ยากมาก ซึ่งจะเห็นว่าอัตรามรณะของคนกลุ่มนี้ในยุคนี้จะแย่ลงเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน คนในยุค baby boomer ที่สนใจอยากจะซื้อประกันแบบบำนาญ หรือ annuity กลับจะมีสุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ส่งผลต่อ longevity risk ของการออกแบบประกันของคนในกลุ่มนี้เหมือนกัน
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องของ genetic testing หรือการตรวจสอบยีนส์กัน เพราะในสมัยนี้การตรวจสอบยีนส์ได้เป็นเรื่องธรรมดากันแล้ว แถมมีแนวโน้มว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนจะเริ่มหันมาตัดต่อพันธุกรรมกันตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะคลอดเสียอีก อยากเอาสีตาแบบไหน ผมมากผมน้อย หรือดั้งที่โด่งแค่ไหนก็เลือกได้ ซึ่งก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะตัดต่อยีนส์ของตับ ไต ไส้ พุง ให้เลิศแบบให้ใช้งานกันถึง 100 ปีก็ได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็คงขึ้นกับกำลังทุนทรัพย์ของพ่อแม่ของเด็กว่ามีมากแค่ไหน เพราะราคาค่าตัดต่อพันธุกรรมในสมัยนี้ก็คงจะแพงหูฉี่ แต่อีกไม่นานเกินรอหรอก ราคาการตัดต่อยีนส์คงจะถูกลงเรื่อยๆ
บริษัทประกันชีวิตตอนนี้กำลังเถียงกันว่า จะต้องขอผลของการตรวจยีนส์เพื่อมาประกอบการพิจารณารับประกันด้วยหรือไม่ แต่ถ้าลองมาคิดๆ ดูแล้ว สำหรับคนที่ไปตัดต่อพันธุกรรมมาเพื่อให้ได้ DNA ที่สุดยอดมาแล้วจะไม่ฉลาด (แถวบ้านเค้าเรียกว่า โง่) มาซื้อประกันทำไม ทำให้บริษัทตั้งคำถามว่าคนที่มาซื้อประกันกับบริษัทนั้น มีแต่คนที่ยีนส์ห่วยๆ กันทั้งนั้นหรือเปล่า ตอนนี้บริษัทก็กำลังมึนตึ้บอยู่กับเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งในหนทางที่บริษัทจะอยู่รอดได้ก็คือการขอตรวจพันธุกรรมของผู้เอาประกันในแต่ละคน โดยเฉพาะคนที่อาจจะทำประกันโรคมะเร็ง แต่อย่างนี้มันจะละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่าเนี่ย เรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกหลายปีแน่ๆ เลย
แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ข่าวดีจากนักวิทยาศาสตร์ว่าการวิวัฒนาการของโคลนนิ่งนั้นประสบความสำเร็จกับการใช้กับมนุษย์ได้แล้ว เดือนหน้าก็กำลังจะมีการประชุมสภาในการอนุญาตให้ทำโคลนนิ่งกันได้ในมนุษย์ จะโคลนนิ่งทั้งตัวหรือจะทำแค่อวัยวะเฉพาะส่วน เช่น หัวใจ ตับ หรือ ไต ก็ได้ ถ้าเสียก็เปลี่ยนเอา ตอนนี้กำลังออกแบบประกันให้คุ้มครองการเปลี่ยนหัวใจ กันได้อยู่ แต่เห็นแอคชัวรีบางคนแถวนี้บอกอยากเปลี่ยนแค่ใจก็พอ ไม่อยากมาเป็นแอคชัวรีแล้ว เพราะรู้ว่ายังมีเรื่องให้ปวดหัวอีกเยอะ
แค่เรื่องของการออกแบบประกันคงยังไม่พอ ลองมาดูเรื่องทางฝั่งงบการเงินของบริษัทบ้าง เพราะตอนนี้ทั่วโลกก็ได้เริ่มใช้ solvency II ขึ้นมาอย่างเต็มตัวหลายปีแล้ว ซึ่งใช้กันหมดในประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยใช้ principles-based approach ที่จะทำอะไรก็ทำตามความเข้าใจจริงๆ ในการจัดการความเสี่ยง (risk management) และจัดสรรเงินทุน (capital allocation)โดยแรกๆ ก็ขลุกขลักอยู่เหมือนกันเพราะนักวิเคราะห์ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปก็งงเป็นไก่ตาแตก ว่าทำไมสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทมันขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งกว่าน้ำในตลิ่งในวันข้างแรมที่ขึ้นลงตามวงโคจรของดวงจันทร์ ก็ต้องถือว่าโชคดีที่คอมพิวเตอร์ในยุคนี้มีประสิทธิภาพสุดเลิศที่สามารถคำนวณแบบจำลองต่างๆ ให้ละเอียดสุดๆ ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็คงใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะรันโปรแกรมให้เสร็จหนึ่งตัว แอคชัวรีในสมัยนี้ยังคงช็อคกับการต้องใช้โปรแกรมต่างๆ ให้คล่องมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
และสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ผ่านมาก็คงไม่พ้นเรื่อง IFRS (International Financial Reporting Standard) ที่ทางประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต้องนำมาใช้ในปี 2013 เป็นต้นมา ซึ่งจุดมุ่งหมายในการพัฒนาแบบมาตรฐานนี้ก็เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสและต้องการให้มีการหามูลค่าของสัญญาประกันภัยโดยเป็นค่าที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายให้ถ้ามีการซื้อขายหรือโอนถ่ายสัญญาตัวนี้จากบริษัทหนึ่งไปยังบริษัทหนึ่ง กล่าวง่ายๆ ก็คือ ถ้าต้องการเอาสัญญากรมธรรม์ไปขายให้คนอื่นอีกต่อหนึ่ง มูลค่าที่จะขายนั้นควรจะมีค่าเท่าไรนั่นเอง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหากับบริษัทประกันภัยในระยะแรกๆ ในการตกลงร่วมกันหาความเป็น”มาตรฐาน” ของ IFRS ตัวนี้
วกกลับมาทางฝั่งประกันวินาศภัยบ้าง โดยจะเห็นได้ว่า pricing margin ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก return on capital ของบริษัทประกันวินาศภัยมีค่าไม่ค่อยสู้ดีนักมานานเกือบทศวรรษ แต่ลูกค้าก็ยังคงเป็นพวก price sensitive ที่หาของถูกเข้าไว้ไม่มีเปลี่ยน ทำให้มีเว็ปไซด์ออนไลน์ที่คอยเปรียบเทียบราคาของเบี้ยประกันภัยในแต่ละบริษัทนั้นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
สิ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศทั่วโลกนั้นผันผวนและยากในการสร้างรูปแบบในการออกแบบประกันภัยและตั้งเงินสำรองสำหรับกรมธรรม์ของประกันวินาศภัยที่ต้องจ่ายเงินตามแต่สภาพของภูมิอากาศ
และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีนวัตกรรมในการออกแบบประกันแนวแปลกๆ เช่นรถยนต์อิเลคทรอนิคส์หรือแม้กระทั่งสินค้าที่มีบนอินเตอร์เน็ต ออกมาเป็นต้น

นึกแล้วทำให้อยากกลับไปเป็นแอคชัวรีในสมัยหนุ่มๆ ในปี 2010 อีกครั้งจังเลยครับ ตอนนั้นคิดว่ายากแล้ว แต่ตอนนี้คิดว่ายากกว่า ฮา....


โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น