การประกันชีวิตนั้นได้เริ่มกันมานานมากแล้ว ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ความจำแม่นถึงขนาดจำว่ามันได้เริ่มมีกันมาตั้งแต่สมัยไหน แต่สิ่งที่อยากจะนำมาบอกในวันนี้นั้นคงจะไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประกันชีวิตหรอกครับ สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ วิวัฒนาการของการประกันชีวิตที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งอยู่ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันชีวิตเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ในระยะแรกๆ ของการประกันชีวิตนั้น จะถูกจัดทำอยู่ในรูปแบบของสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในสมาคมกันเอง เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาทางการเงินที่ตามมาของคนที่อยู่เบื้องหลังเมื่อคนในสมาชิกได้เสียชีวิตอย่างกระทันหัน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าสังคมในสมัยก่อนนั้นยังไม่ได้เป็นสังคมยุคดิจิตอลและก็ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนอย่างสังคมในสมัยนี้ ดังนั้นการให้เงินช่วยเหลือกันระหว่างคนในสมาคมสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อยู่ เพราะเปรียบได้เหมือนกับเงินฉุกเฉินที่เอาไว้ช่วยเหลือกันเองในครอบครัว โดยที่สมาชิกแต่ละคนนำเงินของตัวเองใส่เข้าไปในกองกลางไว้ แล้วเมื่อมีใครเป็นอะไร เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตขึ้นมา ก็จะนำเงินกองกลางเหล่านั้นออกมาช่วยเหลือให้กับสมาชิกคนนั้น และเมื่อถึงตรงนี้แล้วยังนึกภาพไม่ออก ก็ขอให้คิดว่ามันเป็นเหมือนการจัดการแบบเงินกงสี (หมายถึง รูปแบบของบริษัทแบบจีนๆ ที่เป็นธุรกิจครอบครัว) นั่นเอง
แต่ความช่วยเหลือเหล่านั้นไม่ได้ทำอย่างเป็นทางการและก็ไม่ได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ ประมาณว่าอยากช่วยเท่าไรก็ให้กันตามศรัทธา เช่น เงินใส่ซองค่างานศพ เป็นต้น
จนในที่สุด นักคณิตศาสตร์ก็มาปรากฎโฉม โดยมีเสียงของมดสามตัว (A nt A nt A nt) เดินมาเรียงกัน (ภาษาไทย อ่านว่า แอ่น แอน แอ๊น)... นักคณิตศาสตร์นั้นก็ได้นำหลักการเกี่ยวกับตารางมรณะมาศึกษากัน ซึ่งโดยหลักการแล้ว นักคณิตศาสตร์ก็ยังต้องใช้ความรู้ทางสถิติและทฤษฎีความน่าจะเป็นในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่รูปแบบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการประกันชีวิตได้
ซึ่งการที่นักคณิตศาสตร์หรือแอคชัวรีจะพัฒนาแบบประกันชีวิตขึ้นมาได้นั้นก็จะต้องอาศัยข้อมูลที่มีมากพอเพื่อนำมาสร้างอัตรามรณะขึ้น อีกทั้งต้องอาศัยหลักการเกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นมาประยุกต์ใช้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้แอคชัวรีจึงได้พัฒนานวัตกรรมทางคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ให้เข้ากับหลักการการกระจายความเสี่ยงจนเกิดขึ้นมาเป็นรูปแบบของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ขึ้น และยิ่งคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเท่าไร แอคชัวรีก็สามารถพยากรณ์ค่าต่างๆ โดยอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ได้มากและแม่นยำยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่เคยได้ยินคำว่า “อัตรามรณะ” เป็นครั้งแรก อาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร อัตรามรณะ คือ ตัวเลขทางสถิติที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่คนแต่ละอายุ แต่ละเพศจะตายลงเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น อัตรามรณะของชายไทยอายุ 65 ปี ที่ไม่สูบบุหรี่ และมีสุขภาพปกติ เท่ากับ 5% ก็หมายความว่า ในจำนวนบุคคลในกลุ่มนี้ 100 คน จะมี 5 คนที่จะมีโอกาสเสียชีวิตภายในช่วงอายุ 65 ปี จนกระทั่งย่างเข้าอายุ 66 ปี เป็นต้น
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น