คราวที่แล้วได้กล่าวถึงตัวเชอร์ล็อกโฮมส์ว่าเป็นใคร ทำงานอย่างไร แล้วมันมาเกี่ยวโยงกับการปฏิบัติงานของแอคชัวรีเช่นไร รวมไปถึงการวิเคราะห์จุดเด่นของเชอร์ล็อกโฮมส์ที่แอคชัวรีทุกคนควรจะมี ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำมาจำลองเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากหลายๆ เหตุการณ์ตามแต่ข้อมูลและเงื่อนไขของสถานการณ์ที่มี แต่แล้วก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังไม่สามารถกล่าวถึงได้หมด ถ้าอย่างไรผมขอนำกลับมาและทำให้จบในฉบับนี้ก็แล้วกันครับ
"ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง"
เซ้นส์ของแอคชัวรีที่ได้มาจากประสบการณ์มากมาย
ถ้าติดตามเรื่องราวของเชอร์ล็อกโฮมส์เรื่อยมาก็จะรู้ว่า ยิ่งเขามีประสบการณ์ก็ยิ่งรู้ว่าจะต้องเริ่มต้นสืบจากจุดไหน เซ้นส์ของเขาจะบอกว่าควรจำลองรูปการณ์เป็นแบบไหน และอะไรที่เป็นแรงจูงใจให้ก่อคดี จากนั้นจึงสืบหาหลักฐานต่างๆ เพื่อยืนยันสมมติฐานของเขาว่าถูกต้องหรือไม่ และท้ายที่สุดก็ต้องไม่หลงกลกับหลักฐานเท็จที่ถูกสร้างขึ้นมาจากผู้ตัวคนร้าย แน่นอนว่าชั่วโมงบินที่มีคุณภาพของการเป็นนักสืบของเขาทำให้เขาผงาดขึ้นมาเป็นยอดนักสืบในดวงใจของคนหลายๆ คน
การเป็นแอคชัวรีเองก็ต้องรู้ว่าข้อมูลไหนที่จำเป็นและจะต้องเริ่มหาข้อมูลจากจุดไหน จำลองเหตุการณ์ทางธุรกิจไปในทิศทางใด และอะไรที่เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการนำตัวเลขมายืนยันสมมติฐานที่ตั้งขึ้นไว้
ไม่ว่าจะเป็นเชอร์ล็อกโฮมส์หรือแอคชัวรีก็ตาม การที่ชั่วโมงบินหรือประสบการณ์จะมีคุณภาพหรือไม่นั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีการพัฒนาทักษะในการประมวลเหตุและผล มีการพัฒนากระบวนการความคิดเพื่อเพิ่มความแหลมคมในการวิเคราะห์ และเพิ่มความรู้ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพียงไหน หากเชอร์ล็อกโฮมส์เอาแต่ทำงานไขคดีไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจเพิ่มพูนทักษะและความรู้ของตัวเองแล้ว ก็คงจะไม่มีเชอร์ล็อกโฮมส์อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในหนังอย่างทุกวันนี้ก็ได้
ผู้ช่วยที่ขาดไม่ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าเชอร์ล็อกโฮมส์เป็นคนที่เก่งเอาเรื่องเลยทีเดียว แต่เขาจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากไม่มีคู่หูที่แสนดีอย่างหมอวัตสัน เพราะไม่ว่าจะเก่งมาจากไหนก็ตาม การทำงานมันก็ต้องทำกันเป็นทีมอยู่แล้ว
หมอวัตสันก็เหมือนกับแอคชัวรีระดับแอสโซซิเอต (Associate level หรือ ASA) ที่สอบมาได้ครึ่งทาง และคอยเป็นผู้ช่วยให้กับเชอร์ล็อกโฮมส์ ซึ่งก็คงเปรียบเหมือนกับแอคชัวรีที่ได้คุณวุฒิระดับเฟลโล่ (Fellowship level หรือ FSA) แล้ว
ถึงแม้จะมีนิสัยที่พูดน้อย แต่หมอวัตสันก็เป็นผู้ช่วยคนสนิทของเชอร์ล็อกโฮมส์ เค้าก็เป็นคนช่างสังเกตและช่วยเชอร์ล็อกโฮมส์เก็บข้อมูลต่างๆ บางครั้งก็ช่วยตั้งสมมติฐานหรือหาตัวผู้ต้องสงสัยให้ จึงไม่แปลกใจเลยที่เบื้องหลังของความสำเร็จที่เชอร์ล็อกโฮมส์มีนั้นจะมาจากหมอวัตสันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เชอร์ล็อกโฮมส์จะมีเซ้นส์ที่วิเคราะห์ข้อมูลที่หมอวัตสันไปหามาได้ละเอียดแม่นยำกว่า รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้างนั้นก็ทำได้ดีกว่าหมอวัตสันมาก ในบางครั้งเชอร์ล็อกโฮมส์สามารถพูดอธิบายและชักจูงคนรอบข้างให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการได้จากการสังเกตรอบตัวเพื่อเก็บข้อมูลและนำมาประมวลวิเคราะห์ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะบรรลุผลตามสิ่งที่เขาตั้งใจไว้
สำหรับแอคชัวรีนั้น ถึงแม้จะมีความรู้มากมายหรือเก่งแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถทำเองคนเดียวได้ทั้งหมด แอคชัวรีที่ดีต้องทำงานกันเป็นทีม และมีผู้ช่วยที่เหมาะสม ถ้าจะเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพยิ่งขึ้นก็จะเห็นว่าหมอวัตสันก็เหมือนกับแอคชัวรีระดับแอสโซซิเอต (Associate level) ที่สอบมาได้ครึ่งทาง และคอยเป็นผู้ช่วยให้กับเชอร์ล็อกโฮมส์ ซึ่งก็คงเปรียบเหมือนกับแอคชัวรีที่ได้คุณวุฒิระดับเฟลโล่ (Fellowship level หรือ FSA) แล้ว
เชอร์ล็อกโฮมส์ ดับแผนพิฆาตโลก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้เข้ามาฉายในบ้านเรา ได้แสดงให้เห็นลักษณะเด่นของเชอร์ล็อกโฮมส์ที่น่านำมาใช้ในโลกธุรกิจ และสายอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอคชัวรี นั่นคือการเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นรอบตัวและนำมาประมวลผล เพื่อวางแผน จากนั้นจึงคิดกลยุทธ์ วางแผนการดำเนินงาน และ คาดผลที่ออกมา จากนั้นก็ตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์ว่าผลลัพธ์นั้นได้ผลออกมาดีหรือไม่อย่างไร จึงค่อยดำเนินการตามกลยุทธ์ที่วางไว้ต่อ
เก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นรอบตัวและนำมาประมวลผล เพื่อวางแผน จากนั้นจึงคิดกลยุทธ์ วางแผนการดำเนินงาน และคาดผลที่ออกมา จากนั้นก็ตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์ว่าผลลัพธ์นั้นได้ผลออกมาดีหรือไม่อย่างไร จึงค่อยดำเนินการตามกลยุทธ์ที่วางไว้ต่อ
ยกตัวอย่างจากฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในตอนที่เชอร์ล็อกโฮมส์ต้องต่อสู้กับนักมวยคนหนึ่ง ซึ่งเขาจะเริ่มจากการสังเกตการเดิน จังหวะการขยับเท้า และกล้ามเนื้อของนักมวยผู้นั้น ทำให้ทราบว่านักมวยคนนั้นถนัดขวา และเมื่อคู่ต่อสู้ที่เป็นนักมวยคนนั้นได้ปล่อยหมัดขวา ซึ่งก็จะทำให้ซี่โครงซ้ายของคู่ต่อสู้มีช่องว่างให้โจมตี เชอร์ล็อกโฮมส์ก็จะกะเอาไว้แล้วว่าจะหลบไปทางซ้าย และโจมตีกลับเข้าไปที่ซี่โครงซ้าย ซึ่งถ้านักมวยคนนั้นเจ็บและสวนหมัดกลับมาก็จะทำเป็นหลบและเข้าไปโจมตีที่บริเวณประสาทหู ทำให้คู่ต่อสู้เกิดอาการมึนงง และด้วยความเจ็บก็จะทำให้คู่ต่อสู้เอามือไปจับที่หูของตัวเองตามสัญชาติญาณ ซึ่งนั่นก็เป็นจังหวะที่เชอร์ล็อกโฮมส์กะจะปล่อยหมัดเผด็จศึกไปที่ลิ้นปี่อีกครั้งเพื่อล้มคู่ต่อสู้อย่างสวยงาม
จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นเรื่องการต่อสู้ เขาจะวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว และก็จะมองหาว่าอะไรเป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของเป้าหมาย และคำนวณหาวิธีการออกมาเป็นลำดับ อีกทั้งยังคาดการณ์ล่วงหน้าว่า หากเกิดเหตุการณ์นี้ จะต้องทำเช่นไร และหากไม่ใช่ จะต้องทำเช่นไร ดังนั้นถึงแม้เขาจะไม่ใช่นักมวยมืออาชีพ เขาก็สามารถอาศัยผลของการช่างสังเกต วิเคราะห์และคำนวณแผนการอย่างเป็นลำดับเพื่อล้มคู่ต่อสู้ได้
และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือฉากที่เชอร์ล็อกโฮมส์ไปพบกับคู่หมั้นของหมอวัตสันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ทันทีที่เจอ เชอร์ล็อกโฮมส์ก็บอกได้ทันทีว่าผู้หญิงคนนี้ทำอาชีพอะไร เพิ่งไปที่ไหนมา และรู้แม้กระทั่งว่าเธอคนนั้นเคยมีแฟนมาก่อน ซึ่งนี่ก็เป็นผลลัพธ์ของการวิเคราะห์จากข้อมูล เช่น ชุดแต่งกาย รอยเปื้อนบนกระโปรง รอยแหวนที่นิ้ว และ กลิ่นที่ติดอยู่บนตัว เป็นต้น
การต่อสู้ด้วยข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน
แอคชัวรีก็เช่นเดียวกันที่จำเป็นจะต้องมีวิชาและความรู้รอบด้านเอาไว้ติดตัวเพื่อใช้ในการเอาตัวรอดเหมือนเชอร์ล็อกโฮมส์ ซึ่งการเอาตัวรอดในที่นี้ คงไม่ได้ให้แอคชัวรีไปต่อยมวยหรือไปเป็นหมอดูแต่อย่างไร เพียงแต่ให้แอคชัวรีสามารถนำพาองค์กรให้เอาตัวรอดในโลกธุรกิจที่นับวันก็มีแต่จะดุเดือดยิ่งขึ้น การต่อสู้ด้วยข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลที่มีจะไม่เกิดประโยชน์ขึ้นได้เลย นอกเสียจากจะถูกนำมาตีความหรือประยุกต์ใช้ เพื่อวางแผนและคาดการณ์อนาคตข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะจะได้เตรียมตัวหรือนำพาองค์กรไปสู่จุดที่จะได้ประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์นั้นๆ
หาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ยังมีคำพูดของโฮมส์ที่ชอบพูดอยู่บ่อยๆ ว่า "ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง"
ดังนั้น ถ้าคิดดูให้ดีๆ แล้วสิ่งที่เชอร์ล็อกโฮมส์ทำก็คือการตัดตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้ทิ้งทีละตัวอย่างมีหลักการและเหตุผล ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ในเรื่องของทฤษฎีความน่าจะเป็นอย่างที่แอคชัวรีต้องมี แต่เขาก็สามารถวิเคราะห์หาเหตุผลเชิงลึกมาสนับสนุนสมมติฐานของเขาเพื่อที่จะคงเหลือไว้เพียงตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือข้อเท็จจริงนั่นเอง
งานของแอคชัวรีก็เช่นกันที่ต้องคอยหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ ต้องมีการตั้งข้อสังเกตจากตัวเลขในอดีตที่เกิดขึ้น และเรียงลำดับเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องราวขึ้นมา ซึ่งก็หมายความว่าหน้าที่หลักของแอคชัวรีคือการ “ตีความตัวเลข” ซึ่งถ้าไม่มีจำนวนข้อมูลที่ดีเพียงพอ ก็อาจทำให้การตีความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นแอคชัวรีจึงต้องมีประสบการณ์ในการใช้วิจารณญาณเพื่อไม่ให้โดนข้อมูลหลอกเอาได้ และในการนั้นจึงทำให้แอคชัวรีต้องเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลาและติดตามข่าวสารให้ทันเหตุการณ์อยู่สม่ำเสมอ
หน้าที่หลักของแอคชัวรีคือการ “ตีความตัวเลข” แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าการตีความตัวเลขก็คือ “การสื่อสาร”
แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าการตีความตัวเลขก็คือการสื่อสารสิ่งที่ตีความไปแล้วนั้นให้กับผู้บริหารหรือผู้ประกอบการได้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันและตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เรียกว่าเป็นการแปลงตัวเลขให้เป็นตัวโน้ตที่พร้อมจะบรรเลงท่วงทำนองให้คนรอบข้างได้ฟังและรู้สึกสบายใจที่ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นน่าจะดีกว่า
บทสรุป
ในความเป็นจริงแล้ว เชอร์ล็อกโฮมส์นั้นเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยายที่แต่งขึ้นโดย "อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์" เท่านั้น แต่สิ่งต่างๆ ที่มีในตัวละครตัวนี้เป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความเป็นมืออาชีพของแอคชัวรีนั้นจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่ตัวเชอร์ล็อกโฮมส์มี จึงจะประสบความสำเร็จได้
และถ้าเรานำเชอร์ล็อกโฮมส์ออกมาโลดแล่นในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งก็คือโลกธุรกิจที่นับวันก็ยิ่งต้องอาศัยความรอบคอบในการตัดสินใจแล้ว ก็คงจะไม่พ้นงานของแอคชัวรีที่คอยเป็นเบื้องหลังให้กับกลยุทธ์ต่างๆ ในวงการธุรกิจ
ถ้าแอคชัวรีผู้นั้นทำได้ นั่นจึงจะเป็นเชอร์ล็อกโฮมส์ในโลกธุรกิจได้อย่างแท้จริง...
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น