วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

วิธีการรับปริญญาแบบฉบับฮ่องกง

ตอนนี้คงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของน้องๆ หลายคนที่จบการศึกษาไม่ว่าจะระดับปริญญาตรี โท หรือ เอก ซึ่งเห็นแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้กับความตั้งใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองให้เป็นที่ต้องการในตลาดได้ และเมื่อผมลองนึกย้อนกลับไปคิดถึงอดีตของตัวเองตอนที่อยู่ฮ่องกงทำงานไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วย กว่าจะจบได้ก็เล่นเอาเหนื่อยหอบกันทีเดียว
ในวันที่รับปริญญากันในฮ่องกงจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ สำหรับอากาศของฮ่องกงในเดือนนั้นแล้วมันเหมาะกับการใส่ชุดครุยรับปริญญาซะมากกว่า เพราะขืนมัวให้ใส่ในหน้าร้อนหรือหน้าฝนก็คงจะไม่ไหว ยิ่งฮ่องกงมีพื้นที่เล็กๆ เบียดกันจนแทบจะหายใจไม่ออกอยู่ด้วย ดังนั้นอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จะสบายๆ อยู่ที่ 21 24 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายรูปเพื่อรับปริญญามากที่สุด
แต่ถึงกระนั้น พิธีรับปริญญาที่ฮ่องกงก็ช่างง่ายดายจนแทบไม่มีอะไรซะเลย  เพื่อนๆ ในฮ่องกงก็ทำงานกันปกติจนถึงเวลาพักเที่ยง กินข้าวเสร็จก็เดินตัวปลิวถือถุงพลาสติกที่ใส่ชุดครุยไว้ แล้วก็นั่งรถไฟฟ้าไปมหาวิทยาลัย

เตรียมตัวกันก่อนวันรับปริญญา
เริ่มแรกก็คือเรื่องเสื้อครุยที่จะต้องไปเช่าหรือตัดซื้อจากข้างนอก ซึ่งชุดครุยแบบสวมทับนี้ถูกกว่าที่คิด มีแค่สามชิ้นแล้วก็ให้เช่าได้ 10 สัปดาห์ในราคาเพียงไม่กี่ร้อยเหรียญฮ่องกง (ตกเป็นเงินไทยยังไม่ถึง 1,500 บาท)
จากนั้นก็มาเป็นตารางเวลาในการรับปริญญาของแต่ละมหาวิทยาลัย และของแต่ละคณะ ซึ่งก็ทราบกันอยู่แล้วว่าพื้นที่ฮ่องกงนั้นเล็กมาก ดังนั้นการรับปริญญาของแต่ละคณะจึงถูกแบ่งซอยย่อยออกเป็นรายสัปดาห์เลย แล้วก็ไม่มีวันเสาร์กับวันอาทิตย์ มีแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น
คณะวิศวกรรมการเงินที่ผมจบมานั้นส่วนใหญ่จะโดนวันพฤหัส นั่นก็หมายความว่าพวกเราต้องลาหยุดเพื่อไปรับปริญญา ผมซึ่งเป็นคนไทยก็จะเห็นว่าการรับปริญญานั้นต้องเตรียมตัวกันอย่างมาก ก็เลยถามหาวันซ้อมรับปริญญา เพราะไม่เห็นว่าจะมีในตารางเวลา แต่ผมกลับได้คำตอบจากเพื่อนคนฮ่องกงว่า  ซ้อมรับปริญญานั้นคืออะไรเหรอ ทำไมต้องซ้อมด้วย แค่จะไปรับยังไม่รู้ว่าจะไปดีหรือเปล่าเลย
ผมกลับได้คำตอบจากเพื่อนคนฮ่องกงว่า  ซ้อมรับปริญญานั้นคืออะไรเหรอ ทำไมต้องซ้อมด้วย แค่จะไปรับยังไม่รู้ว่าจะไปดีหรือเปล่าเลย


ไม่มีวันซ้อมรับปริญญา
ไม่ใช่เพื่อนผมที่แปลกหรอกครับ ผมต่างหากที่แปลกในสายตาของคนฮ่องกง เพราะเราเห็นว่าการรับปริญญานั้นจะมีอยู่เพียงครั้งเดียว อุตส่าห์ทุ่มแรงทุ่มใจเรียนไปตั้งนาน วันรับปริญญาก็คือวันที่เราเฝ้ารอ แต่เพื่อนๆ คนฮ่องกง (หมายถึงคนที่เป็นคนฮ่องกงจริงๆ ไม่ใช่นักเรียนจากต่างประเทศแบบผม) กลับมองเป็นว่ามันเป็นเรื่องที่เสียเวลางาน  ซึ่งประมาณหนึ่งในสี่ของเพื่อนๆ ที่จบด้วยกัน ก็จะไม่มากันในวันรับปริญญาครับ แต่กลับนัดเพื่อนๆ ในกลุ่มเพื่อถ่ายรูปหมู่กันเองในวันที่เค้าไม่ต้องไปทำงาน เช่น วันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เป็นต้น
คนที่นี่ รวมทั้งผมนั้น เวลานัดก็นัดกันหลายสัปดาห์ด้วย เช่นสัปดาห์แรกนัดกับญาติพี่น้อง สัปดาห์ที่สองนัดกับเพื่อนที่เรียนจบมาด้วยกัน สัปดาห์ที่สามก็ค่อยนัดกับเพื่อนในที่ทำงานในบริษัท สัปดาห์ถัดมาก็นัดกับเพื่อนในวงการอาชีพเดียวกัน
สิ่งที่ผมมองไปในแนวคิดของคนฮ่องกงนั้นก็คือเค้าไม่ชอบอะไรที่เป็นพิธีรีตอง ยิ่งถ้ากระทบเวลางานของเค้าด้วยล่ะก็ เค้าจะให้ความสำคัญกับงานที่เค้ารับผิดชอบก่อน เพราะเค้าบอกว่าไปพิธีรับปริญญาก็ไม่ได้ช่วยให้เค้าก้าวหน้าอะไรขึ้นมา
กล่อมกันไปกล่อมกันมา ผมก็เริ่มเออออห่อหมกไปกับเค้าด้วย แทนที่จะลาหยุดทั้งวันก็ขอลาเป็นครึ่งวันแทน ประมาณว่าทำงานกินข้าวเที่ยงเสร็จปุ๊ป ก็จะถือชุดครุยใส่ถุงพลาสติกแล้วก็นั่งรถไฟฟ้าไปมหาวิทยาลัยในตอนบ่าย เอาแบบให้เฉียดเวลาตอนเริ่มพิธีให้ฉิวๆ เลย ประมาณว่าถ้าไปไม่ทันก็อดรับ

วันจริง
พอถึงมหาวิทยาลัยแล้วก็รีบแปลงร่างใส่ครุยสีดำ และก็ใส่หมวกซะหน่อย แต่งตัวอีกนิด จากนั้นก็ไปยื่นคูปองบัตรคิวเพื่อลงทะเบียน คูปองนี้เค้าจะส่งไปรษณีย์มาให้ที่บ้านพร้อมกับให้โควตาของผู้ติดตามเพื่อให้เข้าไปนั่งในห้องประชุมได้อีกหนึ่งคน
เมื่อยื่นคูปองลงทะเบียนแล้ว ก็ยืนรอหน้าห้องประชุม ซึ่งทุกอย่างของที่นี่เป็นบาร์โค้ดหมดครับ เอาเครื่องสแกนแล้วก็เดินเข้าหอประชุมไปเลย รายชื่อก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หมด แล้วพอถึงช่วงเวลาประกาศชื่อ เราก็แค่ไปทาบบัตร ก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีเพื่อให้ชื่อเราปรากฏบนจออีกทีจะได้ให้คนอ่านประกาศชื่อได้ถูกต้อง ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีการเรียกชื่อกันผิด ไม่ต้องซ้อมรับปริญญาหรือคอยมานั่งนับว่าเพื่อนข้างๆ เราจะอยู่มั๊ย

 เอาเครื่องสแกนแล้วก็เดินเข้าหอประชุมไปเลย รายชื่อก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หมด แล้วพอเวลาประกาศชื่อ เราก็แค่ไปทาบบัตรก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีเพื่อให้ชื่อเราปรากฏบนจออีกทีจะได้ให้คนอ่านประกาศชื่อได้ถูกต้อง

ซึ่งแน่นอนว่าก่อนที่จะมีการเดินขึ้นไปบนเวที ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดงานโดยมีตัวแทนนักเรียนขึ้นไปกล่าวอำลาให้เป็นพิธี แล้วก็มีการมอบตำแหน่งอาจารย์ดีเด่น นักเรียนดีเด่น รวมถึงการมอบปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตให้ โดยในปีนั้นก็มี เจ้าของ Hopewell ซึ่งอายุ 80 กว่าปีเป็นคนรับไป ที่จำได้เพราะท่านเคยมากล่าวปาฐกถาเรื่องการทำธุรกิจของ Hopewell (หนึ่งในธุรกิจที่มีก็คือกิจการทางด่วนในเมืองไทย) ให้กับนักเรียน MBA ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้เข้าไปนั่งฟังด้วย
แล้วช่วงจังหวะบนเวทีนั้นเอง ก็เป็นแค่การจับมือ มีการถ่ายวีดีโอ แต่ไม่มีการถ่ายรูปบนเวที แล้วก็เดินลงตัวเปล่า ถือหมวกใบเดิมไว้แก้เขิน เพราะว่าใบปริญญาจริงๆ เค้าจะให้ไปรับอีกทีกับสำนักทะเบียนหลังจากนี้อีกประมาณสองสัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งไปรับเองกับสำนักทะเบียน หรือไม่ก็ให้เขาส่งไปรษณีย์ตามหลังไปให้ก็ได้
จบแล้วก็ตัวใครตัวมันครับ พิธีทุกอย่างเสร็จภายใน 2 ชั่วโมง เป็นอันว่าพิธีก็จบครับ นี่ยังดีที่ตอนนั้นบอกให้คนที่บ้านในกรุงเทพไม่ต้องบินมา เพราะผมจะบินกลับไปเอง

บินกลับไปหาครอบครัว
เนื่องจากชุดครุยที่เช่าไว้ก็มีเวลาให้ใช้ถึง 10 สัปดาห์ ปกติคนที่นี่ก็เลยวางแผนทยอยกันถ่ายรูปในช่วงวันเสาร์หรืออาทิตย์ ผมก็เลยได้มีสิทธิ์ถ่ายรูปกับเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานที่ฮ่องกงก่อน จากนั้นค่อยบินกลับเมืองไทยหิ้วชุดครุยไปถ่ายรูปกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เมืองไทยทีหลัง
สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การกลับมาที่บ้านของเราเองที่เมืองไทย เพื่อเก็บภาพที่ระลึกไว้กับครอบครัว ซึ่งจะเห็นได้จากในภาพว่าทุกคนยิ้มแย้มดีใจกับความสำเร็จของคนที่ได้จบปริญญากันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตัวเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนเก่าๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมาในเมืองไทย เรียกได้ว่าชุดครุยที่เช่ามานี้ได้ถูกใช้อย่างสุดคุ้ม

ข้อคิดหลังรับปริญญา
อย่างไรก็ตาม หลังจากเรียนจบปริญญาใบนี้มาแล้ว ทำให้เป็นการตอกย้ำความในใจขึ้นว่า ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเก่งขึ้นหรือดูสูงส่งขึ้นเลย หากแต่มันเป็นเพียงแค่สิ่งๆ หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเพียรมานะอุตสาหะของคนที่เลือกประกอบวิชาชีพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต ในส่วนตัวแล้วผมถือว่ามันเป็นรางวัลชิ้นหนึ่งที่ช่วยทำให้คนรอบข้างเราภูมิใจและดีใจกับสิ่งที่เราไขว่คว้ามา เพราะเค้าหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จจากมัน

ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเก่งขึ้นหรือดูสูงส่งขึ้นเลย หากแต่มันเป็นเพียงแค่สิ่งๆ หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเพียรมานะอุตสาหะของคนที่เลือกประกอบวิชาชีพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตการทำงานที่ได้สัมผัสจากการทำงานในหลายๆ ประเทศแล้วนั้น ก็เป็นตัวยืนยันที่บอกได้ว่า ปริญญามันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่าคนฮ่องกงจะให้ความสำคัญของปริญญาน้อยกว่าคนไทยบางคน โดยเฉพาะน้องๆ ที่เรียบจบมาใหม่ๆ ที่มองเห็นปริญญาว่าเป็นตัวการันตีแห่งความสำเร็จของหน้าที่การงาน คนฮ่องกงส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเรียนปริญญาโทไปด้วย ทำงานไปด้วย เพราะเค้าถือว่าประสบการณ์ในการทำงานเท่านั้น ที่จะนับความมีคุณค่าของสายวิชาชีพ
เวลาสัมภาษณ์งานคนฮ่องกงเค้าจะไม่ถามเราว่าเราจบปริญญาอะไรมาบ้าง แต่เค้าจะถามว่าในชีวิตนี้คุณทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง อันนี้น่าเก็บเอาไปคิดต่อนะครับ เพราะมันบ่งบอกถึงสิ่งที่คนสัมภาษณ์ว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันในการสัมภาษณ์งาน

สู้ต่อไป
หลังจากรับปริญญาทางด้านวิศวกรรมการเงินแล้ว ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อ MBA ภาคค่ำเพื่อให้ได้ความรู้ในอีกมิติหรือมุมมองในอีกรูปแบบนึง ปริญญาโทใบแรกเป็นแบบเฉพาะทางด้านการเงิน (เชิงลึก) ส่วนใบที่สองที่เป็น MBA ก็จะมุ่งเน้นการจัดการแทน (เชิงกว้าง) โดยที่ตัดสินใจไปก็เพราะอยากจะเรียนเอาสนุก เรียนเพื่อจะได้มีโอกาสสังเกตความคิดของเพื่อนๆ ในอีกกลุ่มหนึ่งและในอีกมุมหนึ่ง  การเรียนปริญญาโทใบที่สองนี้ก็ใช้เวลาอีกถึง 2 ปี ก็เลยตั้งเป้าว่าจะไม่หวังเรียนเพื่อเอาเกรด แต่จะเรียนเพื่อเจียระไนความคิดของตัวเองให้ตกผลึกเป็นตัวของตัวเราเองยิ่งขึ้น แล้วผมก็ได้สังเกตเห็นมีเพื่อนในชั้นเรียน MBA หลายๆ คนที่มีวัตถุประสงค์คล้ายๆ กับของผม ทำให้เราเรียนแบบแลกเปลี่ยนแนวความคิดกัน การเรียนก็เลยยิ่งสนุกมากยิ่งขึ้น
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น