วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

การตีความและการใช้งานงบการเงิน (Financial Report) ของบริษัทประกันภัย

มาคราวนี้เป็นเรื่องราวที่ฟังดูแล้วธรรมดาแต่จริงๆ แล้วไม่ธรรมดาเลยในทางปฏิบัติสำหรับบรรดาแอคชัวรีในบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยทั้งหลาย เพราะว่ากว่าจะได้มาซึ่งงบการเงิน (Financial Report) ที่มีตัวเลขสวยๆ ออกมาให้เห็นนั้น หลายคนคงต้องอดหลับอดนอน (แต่กินเยอะ) จนเหมือนหมีแพนด้า (เหมือนทั้งตาและตัว) กันเป็นแถว แต่ผลที่ได้ออกมานั้นก็คงจะขึ้นกับตีความและใช้งานงบการเงิน (Financial Report) เหล่านี้จากบุคคลทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกบริษัท
บทความคราวนี้เลยเขียนขึ้นมาเพื่อเอาใจคอนักบัญชีและนักบริหารทั่วไปที่ต้องใช้ตัวเลขจากงบการเงินเพื่อดูผลประกอบการของบริษัทกันครับ

หลายคนคงอาจสงสัยว่าทำไมแอคชัวรีจึงต้องไปเกี่ยวกับกับงบการเงิน (Financial Report) ด้วย เพราะจะมีแต่คนเข้าใจว่าแอคชัวรี (หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัย) มีหน้าที่คำนวณเบี้ยประกันภัยเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ถูกต้องไม่ทั้งหมด เพราะนั่นเป็นเพียงแค่งานหน้าบ้านเท่านั้น ส่วนงานหลังบ้านที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือการมีส่วนรับผิดชอบในงบการเงิน (Financial Report) ร่วมกับฝ่ายบัญชีด้วย โดยฝ่ายบัญชีจะเน้นการนำเอาตัวเลขที่เป็นเม็ดเงินสดจริงๆ (เช่น เบี้ยประกันภัยรับ หรือ ค่าสินไหมทดแทน) มาลงในบัญชี ส่วนแอคชัวรีจะคำนวณเอาตัวเลขที่คิดว่าจะเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย (หรือรายรับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต) มาประมาณการเอาให้แม่นยำที่สุดแล้วนำมาลงในงบการเงิน (Financial Report)  

ดังนั้นถ้าจะให้ถามว่านักบัญชีต่างกับแอคชัวรีอย่างไร ก็คงจะได้คำตอบประมาณที่ว่า นักบัญชีจะนำเอาตัวเลขที่เกิดขึ้นในอดีตมาใส่ในงบการเงิน (Financial Report) ให้ถูกต้องตามระบบมาตรฐานสากลบัญชี หลังจากนั้นแอคชัวรีจึงจะประเมินบริษัทโดยสร้างสมมติฐานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อประมาณสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วจึงนำเอาตัวเลขเหล่านั้นมาใส่ในงบการเงิน (Financial Report) อีกทีหนึ่ง ส่วนความสามารถในการประเมินอนาคตของแอคชัวรีนั้น คำทั่วๆ ไปที่ใช้แซวกันประจำก็คือ การนั่งเทียนอย่างมีเหตุมีผล (Educated guess) นั่นเอง

ตัวอย่างของตัวเลขที่เห็นได้ชัดว่าจะต้องมีแอคชัวรีเข้ามาเอี่ยวอย่างแน่นอนนั้นก็คือ การตั้งเงินสำรองกรมธรรม์เพื่อให้เพียงพอกับกรมธรรม์ในแต่ละกรมธรรม์ (ซึ่งก็ยากอยู่ไม่น้อย) และหลังจากนั้นก็ต้องมาทำให้เข้ากับระบบบัญชีในแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่กำหนดในประเทศ (Local regulation) หรือแบบที่กำหนดตามมาตรฐานสากล (General Accepted Accounting Principle) โดยบางบริษัทก็มีระบบบัญชีที่ต้องทำให้ถูกต้องอยู่ถึง 4 - 5 แบบกันทีเดียว (เช่น แบบที่กำหนดในประเทศ แบบที่กำหนดเพื่อคำนวณภาษี แบบที่กำหนดตามผู้ถือหุ้นในออสเตรเลีย แคนนาดา และอเมริกา เป็นต้น)

แล้วทำไมงบการเงิน (Financial Report) ของบริษัทประกันภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญล่ะครับ
นั่นเพราะว่างบการเงิน (Financial Report) จะบอกถึงสภาวะที่บริษัทมีกำไรหรือขาดทุน และมีเงินทุนที่เผื่อไว้ในยามฉุกเฉินเหลืออยู่เท่าไรที่จะสามารถนำไปชำระคืนให้กับผู้ถือกรมธรรม์ได้ ทำให้หน้าที่หลักของแอคชัวรีอีกอย่างหนึ่ง คือการดูผลประกอบการกำไร/ขาดทุนของบริษัท รวมทั้งดูถึงเงินทุน (Capital) ที่บริษัทมีเหลืออยู่

แล้วการที่จะแสดงผลกำไรหรือขาดทุนได้นั้น ก็คงต้องขึ้นกับว่า แอคชัวรีจะประเมินการตั้งเงินสำรองกรมธรรม์ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร ที่สำคัญก็คือถ้าปีไหนแอคชัวรีเปลี่ยนแปลงการตั้งเงินสำรองกรมธรรม์ให้ลดลง ปีนั้นก็จะทำให้บริษัทแสดงผลกำไรพุ่งปรี๊ดอย่างทันตาเห็น (เหมือนปล่อยน้ำจากเขื่อนให้ลงสู่กระเป๋าให้มากขึ้น) แต่การจะเปลี่ยนการตั้งค่าเงินสำรองกรมธรรม์ในแต่ละปีนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถในเชิงลึกและวิจารณญาณ (รวมไปถึงจรรยาบรรณ) ของคนที่เป็นแอคชัวรี อีกทั้งประเทศไทยก็มีแอคชัวรีที่อยู่ในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คอยสอดส่องดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่งอยู่แล้ว จึงเป็นที่วางใจได้ว่าแอคชัวรีไม่มั่วนิ่มแน่นอนครับ (เราเอาเกียรติของลูกเสือสำรองเป็นประกัน)
หนำซ้ำประเทศไทยเรายังมีสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัย (The Society of Actuary of Thailand) ที่คอยช่วยสอดส่องดูแลเพื่อยกระดับความสามารถและจรรยาบรรณของแอคชัวรีด้วยอีกทางหนึ่ง

วิธีทำงานของแอคชัวรีในการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งงบการเงิน (Financial Report)
ปกติแล้วคนทั่วไปจะคิดว่าแอคชัวรีจะต้องเก่งเรื่องสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ยาวถึงสามวาสองศอกกันทีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะจำสูตรคำนวณทั้งหมดให้ได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะมีสูตรที่จะให้เรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้นแอคชัวรีที่มีประสบการณ์ (และได้เป็น Qualified Actuary) จะเน้นที่การสร้างสูตรคำนวณเองตามหลักการของระบบมาตรฐานสากลที่ได้สอบกันมา
และเนื่องจากว่าชนิดของธุรกิจบริษัทประกันภัยนั้นจะมีต้นทุนเกิดขึ้นตามหลังในอนาคตข้างหน้า แต่กลับเก็บเงินมาไว้กลับบริษัทก่อน ดังนั้นแอคชัวรีที่ดีนั้น นอกจากจะต้องคำนวณผลประกอบการของบริษัทได้แล้ว ยังควรจะสามารถดูสิ่งต่อไปนี้ได้
1.               ทิศทางของกำไร/ขาดทุนของบริษัท (Trend of Profit) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย เพราะสภาพแวดล้อมในตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงทำให้ต้นทุนของกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยขายไปแล้ว (แต่บริษัทยังให้ความคุ้มครองอยู่) เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป แล้วอาจส่งผลทำให้บริษัทเกิดการขาดทุนที่คาดไม่ถึง และยังผลถึงภาวะล้มละลายได้โดยไม่รู้ตัว
2.               แหล่งที่มาของกำไรของบริษัท (Source of Profit) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่แอคชัวรีควรจะวิเคราะห์ ซึ่งโดยหลักทั่วไปอย่างคร่าวๆ แล้ว เราจะต้องมองให้ออกว่าขณะนี้บริษัทได้กำไรมาจากทางใด เป็นต้นว่า กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นหรือพันธบัตร หรือกำไรจากการพิจารณารับประกันที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ก็กำไรที่เกิดจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท  ทั้งนี้ทั้งนั้น แหล่งที่มาของกำไรก็อาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินสำรองของกรมธรรม์ ซึ่งก็ไม่ได้แสดงถึงประสิทธิภาพของผลประกอบการอย่างแท้จริงก็ว่าได้
3.               การวางแผนอย่างเป็นระบบของบริษัท (Strategic Planning) ก็เป็นสิ่งที่แอคชัวรีจะต้องมีเอี่ยวอยู่ด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผนการดำเนินงานในปีหน้า สามปีข้างหน้า หรือห้าปีข้างหน้า มิหนำซ้ำอาจจะต้องประมาณการงบการเงิน (Financial Report) ถึง 3 5 ปีล่วงหน้ากันให้ดูเลยทีเดียว
4.               รู้อย่างลึกซึ้งว่า หนี้สิน (Liability) และ สินทรัพย์ (Asset) รวมทั้ง เงินทุน (Capital) นั้นคำนวณหามาได้อย่างไรในระบบมาตรฐานสากลต่างๆ อีกทั้งควรจะรู้ว่าตัวไหนยังใช้ได้อยู่ หรือตัวไหนที่ล้าสมัยไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ระบบการตั้งเงินทุนขั้นต่ำ (Minimum required capital) ของประเทศไทยนั้นอาจจะดูไม่ทันสมัยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบ้าง (เพราะมีแนวโน้มว่าบางบริษัทอาจจะมีเงินทุนอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในตลาดที่มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคต) ดังนั้นปกติแล้ว จึงมีบริษัทที่ได้มีการศึกษาคำนวณหาเงินทุนขั้นต่ำที่บริษัทควรจะมีจริงๆ อย่างคร่าวๆ (เช่น การใช้วิธีการคำนวณแบบมาตรฐานตามแต่ความเหมาะสม สำหรับบริษัทในเครือทั่วโลก เป็นต้น) ไว้อยู่บ้างเพื่อแยกไว้พิจารณาอีกต่างหากอีกหนึ่งชุด และก็เพื่อสามารถเอาไว้ใช้กับการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในเครือทั้งหมดอีกด้วย (เช่น วิธีการคำนวณตามมาตรฐานของ Standard & Poor’s เป็นต้น) และนั่นก็หมายความว่างบการเงินสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งชุด เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปใช้ทำอะไร อย่างไรก็ตาม หลายๆ ท่านก็คงทราบว่าระบบการตั้งเงินทุนขั้นต่ำของประเทศไทยได้ถูกยกระดับให้ดีขึ้น และเมื่อศึกษาถึงผลลัพธ์ของระบบใหม่แล้ว ก็คงจะมีการบังคับให้ใช้กันภายในอนาคตข้างหน้า

แอคชัวรีที่ดีควรจะต้องวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ให้กับบริษัทประกันภัยด้วย คือ 1) Trend of Profit, 2) Source of Profit, 3) Strategic Planning, and 4) Impact of Balance sheet”

งบการเงินตามระบบมาตรฐาน
การจะทำงบการเงินระบบมาตรฐาน (Financial Reporting Standard framework) นั้นจะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และสภาพแวดล้อมที่ใช้อยู่ในประเทศนั้นๆ ให้ได้เสียก่อน และการตีความจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อให้ผู้บริหารได้ใช้ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาตัดสินใจ อีกทั้งแอคชัวรีจะต้องทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ด้าน (Stakeholders) ที่ต้องการใช้งบการเงิน (Financial Report) เหล่านี้

ไม่ใช่ทำงบการเงินมาแล้วไม่มีใครอ่าน งบการเงินที่ดีนั้น ถ้าทำเสร็จแล้วต้องมีคนอ่านและคนอ่านสามารถทำความเข้าใจกับมันได้

ปัจจัยสำคัญที่งบการเงินที่ทำออกมาแล้วจะต้องมีก็คือ 1) โปร่งใสและตรวจสอบได้ (transparent), 2) แม่นยำ (accurate) ,และ 3) เชื่อถือได้ (Reliable) และสิ่งเหล่านี้ก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากเราไม่มีข้อมูลและโมเดลที่ดีและเพียงพอที่จะนำมาคำนวณ อีกทั้งการสื่อสารเพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจในข้อมูลแต่ละชนิดนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับแอคชัวรี เราจึงควรจะต้องมีการตรวจสอบกระบวนการทำงานอยู่สม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การทำ PDCA (Plan Do Check and Action) ที่ต้องวางแผนก่อนลงมือจัดการกับข้อมูลจริง และหลังจากทำทุกอย่างเสร็จแล้วก็จะต้องมีการตรวจสอบว่าถูกต้องหรือมีสิ่งใดที่ควรจะต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการหรือไม่ ก่อนที่จะลงมือแก้ไขปรับปรุงต่อไป

Audited accounts will normally say the financial report is “true and fair” and prepared in accordance to IFRS (International Financial Reporting Standard)

บทส่งท้าย
สิ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่ทำงบการเงินมาแล้ว แต่กลับไม่มีใครอยากอ่านหรือนำมันมาใช้ งบการเงินที่ดีนั้น ถ้าทำเสร็จแล้วต้องมีคนมาอ่าน และคนอ่านสามารถทำความเข้าใจกับมันได้ด้วย
สำหรับผมแล้ว การตีความงบการเงินจึงเปรียบเสมือนการเล่นตัวโน้ตที่ปกติแล้วจะอ่านไม่รู้เรื่อง ให้ออกมาเป็นท่วงทำนองเพื่อให้คนฟังได้ซาบซึ้งกับเสียงเพลง และนั่นก็คงเป็นหน้าที่ของแอคชัวรีอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะแปลงตัวเลขให้เป็นเหมือนตัวโน้ต แล้วบรรเลงให้คนทั่วไปได้ซาบซึ้งถึงท่วงทำนองในงบการเงินเหล่านั้นกันครับ

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น