วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

ความสำคัญของการทำประกันชีวิต

เริ่มต้นหัวข้อแบบนี้มาก็กลัวเหมือนกันว่าคนเค้าจะคิดว่าผมจะมาเขียนโฆษณาการทำประกันชีวิตอยู่หรือเปล่า แต่เมื่อชั่งใจอยู่ซักพัก ก็คิดว่าผมน่าจะลองเขียนเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญหรือประโยชน์ของการทำประกันชีวิตดูบ้าง ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะมีบ้างที่ซื้อของบางอย่างมาโดยที่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร หรือใช้อย่างไร แถมบางคนซื้อมาแล้วก็เก็บเข้ากรุโดยที่ไม่ได้เอามาใช้อีกเลย เพราะในความเป็นจริงแล้วสินค้าทางการเงินแต่ละชนิดก็มีประโยชน์แตกต่างกัน เพียงแต่คนซื้อนั้นอาจไม่เข้าใจว่ามันมีกลไกและสามารถทำประโยชน์อะไรเมื่อซื้อสินค้าชนิดนั้นไปแล้วต่างหาก 

ไหนๆ แอคชัวรีก็เป็นคนออกแแบบกระดาษให้เป็นเงิน (หรือในศาสตร์สมัยใหม่ บางทีก็เรียกกันว่า วิศวกรรมการเงิน) ก็เลยอยากจะขอหยิบยกเรื่องดีๆ บนกระดาษที่เราเรียกกันว่า กรมธรรม์ประกันชีวิต ขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการประกันชีวิต ก่อนที่จะตัดสินใจควักกระเป๋าจ่ายตังค์ซื้อลงไป

เราลองมาดูมุมมองของคนที่พัฒนาออกแบบประกันชีวิตว่าเค้าคิดว่าประกันชีวิตมีความสำคัญอย่างไรกันดีกว่าครับ

ทำไมเราจึงซื้อประกันชีวิต?

1. เป็นการสร้างนิสัยของการออมที่เหมาะสม การประกันชีวิตช่วยให้คนเราออมทรัพย์ได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างลักษณะนิสัยของการออมที่ดีและช่วยให้แต่ละคนสามารถสร้างโครงการออมทรัพย์ของตัวเองขึ้นมา คนซื้อประกันชีวิตหรือผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับการแจ้งให้รู้ว่าเมื่อใดถึงกำหนดที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อใดที่เขาจะได้เงินคืนในแต่ละช่วงเวลาจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ ทุกสิ่งจึงเป็นเรื่องที่แน่นอนตายตัว เช่น จำนวนเงินที่ฝาก ระยะเวลาที่จะต้องฝาก จำนวนเงินที่จะมีเหลืออยู่ตลอดเวลาในแต่ละปี ถ้าหากว่าเรามีการออมเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากหลายๆที่และในขณะเดียวกันก็มีกรมธรรม์ประกันชีวิตด้วย จะสังเกตได้ว่าหากเราต้องการใช้เงิน การเลือกที่จะปิดหรือถอนเงินออกมาจากกรมธรรม์ประกันชีวิตควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเทียบกับการถอนเงินจากบัญชีฝากออมทรัพย์

2. เป็นการลงทุนระยะยาวอีกแบบหนึ่งที่หาไม่ได้จากพันธบัตรและหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ - บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีแบบที่ให้เลือกคุ้มครองไปจนถึงเกษียณอายุหรือตลอดชีวิต ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาวทีเดียว อีกทั้งผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในสัญญาก็เป็นสิ่งที่การันตีไว้อย่างดี และแอคชัวรีก็จะต้องตั้งเงินสำรองกรมธรรม์เพื่อให้บริษัทมีเงินเพียงพอกับการผลประโยชน์จ่ายคืนในอนาคตตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งเป็นสิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนถือกรมธรรม์ว่าจะได้รับผลประโยชน์คืนกลับมาอย่างแน่นอน

ตัวอย่างที่ผมได้เจออยู่บ่อยๆ เมื่อครั้งที่ทำงานอยู่ที่ฮ่องกงก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ผมไปเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของธนาคารนั้นบางครั้งจะช่วยให้คำแนะนำในการจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสม เช่น ถ้าผมถือเงินสดในบัญชีออมทรัพย์อยู่มากไป เค้าจะแนะนำให้เปิดบัญชีการลงทุนกับเค้าอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งหลักความคิดของเค้ามีอยู่ว่า หากต้องการลงทุนในระยะสั้นนั้นก็ควรจะถือพันธบัตร แต่หากต้องการการลงทุนระยะกลางก็ควรจะถือหุ้นแทน ซึ่งคนในฮ่องกงส่วนใหญ่ก็จะมีกัน แต่เจ้าหน้าที่มักจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดการจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาว จึงควรซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไปจนกว่าจะเกษียณหรือคุ้มครองไปตลอดชีวิต ดังนั้น หากมองในแง่ของการลงทุนถือได้ว่าการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้อีกทางหนึ่ง

3. ข้อดีในด้านภาษี สำหรับคนที่ต้องเสียภาษีนั้น ก็คงจะเป็นความรู้รอบตัวที่มีอยู่แล้วว่า การซื้อประกันชีวิตนั้นสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทันได้คิดว่าเงินคืนหรือผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นก็ให้ประโยชน์ด้านภาษีด้วยเพราะไม่ต้องถูกนำไปเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็น:
1) เงินคืนรายงวด (ที่การันตี)
2) เงินปันผล (ที่ไม่การันตี)
3) เงินสดคืน (เมื่อถอนกรมธรรม์)
4) ดอกเบี้ยสะสมเมื่อฝากเงินคืนรายงวดหรือเงินปันผลไว้กับบริษัท และ
5) เงินผลประโยชน์ต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือลงทุนอย่างอื่นแล้ว พันธบัตรหรือหุ้นที่ซื้อขายในประเทศไทยนั้นจะต้องเสียภาษีไม่ตอนซื้อก็ตอนขาย หรือทั้งตอนซื้อและขาย ซึ่งรายละเอียดนั้นอาจจะสอบถามได้จากช่องทางการจัดจำหน่ายของเครื่องมือการลงทุนในแต่ละประเภทครับ นอกจากนี้ ภาษีมรดกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไปหรือไม่เคยได้วางแผนเอาไว้ ดังนั้นด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นการประกันชีวิตนั้นจึงถือได้ว่าเป็นมรดกที่ปลอดภาษีครับ

4. เป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องเวลา การประกันชีวิตเป็นการลงทุนเพียงอย่างเดียวที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงหรือบรรเทาความเดือดร้อนอันเกิดจากความตาย และคำนวณไว้ล่วงหน้าว่าความตายที่มีสิทธิมาเยือนได้ทุกเวลาก่อนที่ผู้ลงทุนจะสามารถสะสมรายได้ในจำนวนมากเพียงพอให้กับคนข้างหลัง เพราะฉะนั้นแล้ว คนเราซื้อประกันชีวิตก็เพราะรู้ดีว่าคนเรานั้นเมื่อเกิด สักวันหนึ่งก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ ทำลายพลังในการหาเงิน (Earning power) ในภายภาคหน้า  ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังได้รับความเดือดร้อนทางด้านการเงิน อย่างไรก็ดี คำถามถัดมาที่ผมเจออยู่บ่อยๆ ก็คือ แล้วคนเราควรจะทำประกันชีวิตไว้ซักเท่าไรถึงจะพอ ซึ่งคำตอบนั้น ก็คงต้องกลับไปที่คอนเซ็ปด์เดิมที่ว่า การประกันชีวิตเป็นความคุ้มครองที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเวลา ซึ่งถ้าคิดว่าคนข้างหลังของคนที่เสียชีวิตไปนั้น จะใช้เวลา 3 ปีในการปรับตัวหลังจากการพลังในการหาเงิน (Earning power) ได้หาย   นั่นหมายความว่าคนๆ นั้นควรจะทำประกันชีวิตที่มีวงเงินคุ้มครองเท่ากับรายได้ของคนๆ นั้นถึง 3 ปี ดังนั้นคำตอบจึงไม่ตายตัวเพราะขึ้นกับคนซื้อประกันชีวิตว่ามีมุมมองอย่างไรต่อการปรับตัวของคนข้างหลังที่อาจได้รับความเดือนร้อนหากคนที่ซื้อประกันชีวิตต้องมีอันจากไปก่อนเวลาอันควร

5. สามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุและสุขภาพได้ ซึ่งอาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าการไปหาซื้อกรมธรรม์แยกส่วนอีกฉบับหนึ่งต่างหาก และความคุ้มครองจากสัญญาเพิ่มเติมเหล่านี้อาจจะถูกออกแบบให้สามารถคุ้มครองได้มากกว่า เพราะในมุมมองของบริษัทประกันชีวิตแล้ว การคุ้มครองประกันชีวิตพร้อมกับอุบัติเหตุและสุขภาพไปด้วยนั้นจะมีผลในการกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลกรมธรรม์นั้นก็จะน้อยกว่าการที่จะต้องออกกรมธรรม์ฉบับใหม่ด้วย

6. อื่นๆ อันนี้ไม่ได้แช่ง แต่ทราบหรือไม่ครับว่าสำหรับคนล้มละลายแล้ว ถ้ามีทรัพย์สินหรือเงินเก็บไว้อยู่ ก็จะถูกบังคับคดีให้เอาไปชำระหนี้ซะทุกครั้ง แต่สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายๆ ไป
ส่วนสำหรับคนที่จะแต่งงานนั้น ปกติเค้าจะใช้ทองเป็นสินสอด และมาระยะหลังๆ ก็มีโฉนดที่ดินหรือคอนโดฯ มากางกันให้เห็นเป็นสินสอดบ้าง ซึ่งถ้าหากว่าที่เจ้าบ่าวคนไหนได้อ่านเนื้อหาข้างบนจนเข้าใจแล้ว อยากเอาประกันชีวิตมาไว้เป็นสินสอดบ้างก็น่าจะเป็นความคิดที่ดีนะครับ เพราะผมว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นดูมีค่า มั่นคงและสามารถจับต้องได้มากกว่าทรัพย์สินอย่างอื่นอีก  ฮา...

บทส่งท้าย
ก่อนจากกันในคราวนี้ ขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่าการประกันชีวิตในสายตาของคนฮ่องกงและสิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งในอเมริกานั้นถือว่าการประกันชีวิตเป็นเครื่องมือในการวางแผนทางการเงินระยะยาวสำหรับบั้นปลายในชีวิตของแต่ละคน และยิ่งผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของกรมธรรม์ประกันชีวิตมากยิ่งขึ้นเท่านั้น บริษัทประกันชีวิตจึงถือได้ว่าเป็นสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งที่ค้ำจุนสวัสดิภาพของคนในสังคมได้เช่นกันครับ


Quiz
นายเคน ได้ทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง จำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท ส่งเบี้ยประกันภัยรายปี ปีละ 10,000 บาท โดยระบุให้นางหน่อย เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อส่งเบี้ยประกันมาได้ 3 ปี เป็นเงิน 30,000 บาท นายเคนได้เสียชีวิตลง บริษัทได้จ่ายเงินให้นางหน่อย 500,000 บาท เจ้าหนี้ของนายเคน จะมาขอรับเงินชำระหนี้ให้แก่ตนได้เท่าไร
ก.       ได้ทั้งหมดจำนวน 500,000 บาท
ข.       ได้เฉพาะเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันภัยส่งไปแล้ว 30,000 บาท
ค.       เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์บังคับชำระหนี้เอากับจำนวนเงินเอาประกันภัยได้เลยเพราะจำนวนเงินเอาประกันภัยเป็นของนางหน่อยภรรยา ไม่ใช่ของนายเคนลูกหนี้
ง.        ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่ง คือ 250,000 บาท
ตอบ : ข. เพราะว่านายเคน ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ในกรมธรรม์ เจ้าหนี้ไม่สามารถมาแตะเงินส่วนที่เกินเบี้ยประกันภัยที่นายเคน เคยจ่ายได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้านายเคน ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์เอาไว้ จะทำให้เจ้าหนี้สามารถยึดเงินเอาประกัน 500,000 บาทไปได้ทั้งหมด

ดังนั้น ถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นหนี้ ก็อย่าลืมเขียนชื่อผู้รับประโยชน์ลงในกรมธรรม์กันนะครับ

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น