วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

Swine flu (Are we ready for the next influenza pandemic?)

สิ่งที่แอคชัวรีเรียนรู้จากไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดสเปน 1918

Tail risk คือความเสี่ยงที่นานๆครั้งจะเกิดขึ้น แต่พอเกิดแล้วสามารถสร้างความเสียหายอย่างมากมาย ในมุมมองของแอคชัวรีปกติแล้วหากพูดถึง Tail risk ก็จะนึกถึงความเสี่ยงที่มาจากการลงทุน เช่นตลาดหุ้นพัง (market crash) พันธบัตรของประเทศล่มสลาย (default risk) หรือ ภาวะการขาดเงินไหลเข้าระบบ (credit crunch) เป็นต้น อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นอย่างอิสระ ดังนั้นเมื่อคำนึงถึง Tail Risk จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ (correlation) ด้วย

อย่างไรก็ตาม Tail risk ที่อยากจะนำเสนอในคอลัมน์นี้ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่แอคชัวรีไม่ควรมองข้ามก็คือ ความเสี่ยงจากอัตรามรณะ (mortality risk) และอัตราการเจ็บป่วย (morbidity risk) ความเสี่ยงทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่นานๆครั้งจะเกิดขึ้นแต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อกับบริษัทประกันภัยหากที่ไม่มีการเตรียมการรับมือเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่ส่งผลกระทบต่ออัตรามรณะและอัตราการเจ็บป่วยโดยตรง

ในฉบับนี้ผมขอเชื่อมโยงไข้หวัดใหญ่ 2009 กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว และนำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ของผมว่าแอคชัวรีมีช่วยบริษัทประกันภัยในการบริหารอย่างไรบ้าง

สิ่งที่แอคชัวรีสนใจกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือการสูงขึ้นของอัตรามรณะที่มากกว่าที่คาดคิดไว้ (excess mortality curve) ยิ่งบริษัทมีการขายแบบประกันที่เน้นความคุ้มครองโดยเฉพาะกับคนที่อายุไม่มากก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากคนอายุน้อยจะมี Net Amount at risk ที่มากกว่าของคนสูงอายุ

คนทั่วไปแล้วอาจจะคิดว่าบริษัทที่คุ้มครองคนชรานั้นจะมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทที่คุ้มครองคนหนุ่มๆ ซึ่งสุขภาพดี แต่ความจริงแล้ว ถ้าลองคิดต่อไปว่า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมาโอกาสที่บริษัทประกันภัยจะขาดทุนนั้นจะมาจากการที่คุ้มครองคนหนุ่มๆ มากกว่า
โดยสรุปแล้วแบบประกันภัยที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อบริษัทประกันภัย ประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้:
  1. คุ้มครองแบบปีต่อปี
  2. คุ้มครองคนอายุน้อย
  3. คุ้มครองคนที่เพิ่งถือกรมธรรม์ได้ไม่นาน


ข้อมูลของการเกิดโรคระบาด
ตามสถิติแล้วการแพร่ระบาดของไวรัสจะเกิดขึ้นประมาณ 5 ครั้งในรอบ 100 ปี แล้วก็จะมีอยู่ 1 ครั้งที่จะเป็นเหตุการณ์ที่โลกจะต้องจดจำมันเอาไว้ในประวัติศาสตร์ อย่างเช่นในปี 1918 นั้นมีคนประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องตายด้วยไข้หวัดสเปน 1918 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ แค่ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น และประวัติศาสตร์ก็มักจะซ้ำรอยเดิม จึงเป็นเรื่องที่น่ารู้ไม่น้อยที่ควรจะทำความรู้จักกับไข้หวัดสเปน 1918 กันบ้าง

ระลอกคลื่นของการระบาด
การระบาดชองไข้หวัดสเปน 1918 นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระลอกคลื่น:

คลื่นลูกที่หนึ่ง: สามารถติดต่อกันง่ายดายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มกับคนสุขภาพแข็งแรง แต่คนที่ติดหวัดในระลอกแรกนั้นจะไม่เป็นอันตรายถึงตาย

คลื่นลูกที่สอง: ความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้นจนสามารถทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากคลื่นลูกแรกนั้นกลับจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า

คลื่นลูกที่สาม: สามารถกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ โดยหน้าที่ความรับผิดชอบแล้วสิ่งที่แอคชัวรีกังวลมากที่สุดก็คือ... “ตัวเลข” ซึ่งตัวเลขในที่นี้หมาถึง อัตรามรณะ ในสภาวะการระบาดของไข้หวัดกราฟของอัตรามรณะ (Mortality curve) จะกลายเป็นรูป W ไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่อายุในวัยกลางคนจะมีอัตราการตายที่สูงเท่าๆกับคนวัยชราและเด็กเล็ก

ในแง่ของการคาดการณ์ความรุนแรงของไข้หวัดในครั้งต่อๆไปเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดของไข้หวัด 2009 ในครั้งนี้สามารถเป็นได้ทั้งสองทางคือ อาจะเบากว่าหรือรุนแรงกว่า:

เบากว่าเพราะ
แรงกว่าเพราะ
-          สมัยนี้มีห้อง ICU และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลที่ดีกว่า ไว้ให้ผู้ป่วยที่ติดโรค
-          สมัยนั้นมีสงครามโลกเกิดขึ้นทำให้การระบาดเกิดได้เร็วกว่า

-          สมัยนี้สามารถวิเคราะห์ไวรัสได้ดีขึ้น รวมถึงแอนตี้ไวรัสด้วย


-          การเดินทางสมัยโลกาภิวัฒน์นี้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน
-          ห้อง ICU และเตียงอาจไม่เพียงพอเนื่องจากโรงพยาบาลสมัยนี้ได้ลดขนาดลงเมื่อทำ privatization มากขึ้น
-          คนมาอาศัยอยู่กันในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นกันมาเป็นดอกเห็ด
-          มีผลกระทบกับเศรษฐกิจเนื่องจากคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีอาจมีโอกาสติดโรคได้สูงกว่า และคนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ



องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีระดับ PANDEMIC ขั้นที่ 6
Pandemic Alert ของ WHO หมายถึง ความเสี่ยงในการแพร่กระจาย 6 ระดับ ซึ่งได้มีการกำหนดนิยามของการระบาดทั้ง 6 ระดับไว้ดังต่อไปนี้:
Phase 1 เจอไวรัสชนิใหม่ๆ แต่ไม่สามารถติดมาสู่คนได้
      Phase 2 พบเชื้อที่เกิดในสัตว์ แล้วติดมาสู่คนได้ มีแนวโน้มจะแพร่จากคนสู่คน
      Phase 3 เกิดการติดต่อในคนกลุ่มเล็กๆ สามารถจำกัดการแพร่ของเชื้อได้
        Phase 4 เกิดการแพร่กระจายในระดับชุมชน เช่น เป็นกันทั้งเมือง ทั้งประเทศ
      Phase 5 เกิดการระบาดข้ามประเทศ อย่างน้อย 2 ประเทศ
        Phase 6 เกิดการระบาดข้ามทวีป ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนผลจึงของย้ำว่าระดับเหล่านี้ มิใช่ความรุนแรงของโรคแต่เป็นเพียงการบอกระกับของการแพร่กระจายของโรคเท่านั้น

ส่งท้าย
สำหรับบทส่งท้ายของคอมลัมน์นี้ผมอยากจะขอย้ำว่า ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อทางอากาศได้ และเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วสองถึงสามวันจึงจะแสดงอาการ ดังนั้นหากทานยาแล้วรู้สึกอาการไม่ดีขึ้นในช่วงสองวันแรกควรจะรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ไข้หวัดเป็นโรคที่น่ากลัวก็คือความสามารถของไวรัสไข้หวัดใหญ่ในการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมที่กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม ยิ่งมีการแพร่การจายของเชื่อโรคมากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ไวรัสสามารถเปลี่ยนสายพันธุ์ได้เยอะขึ้น ดังนั้นทางที่ดีควรป้องกันโดยการสวมหน้ากากอานามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกันดีกว่าครับ

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

ความสุขที่ไม่ได้มาจากตัวเลข (Happiness without numbers)

ผมเคยถกเถียงกับเพื่อนๆ มาหลายหนแล้วว่าความสุขคืออะไร ลองกันมาก็หลายแบบ ถามใจตัวเองก็หลายครั้ง สุดท้ายก็ได้มีเวลาไปเสาะแสวงหาอ่านเรื่องราวต่างๆ และพูดคุยกับคนมากมาย เลยอยากจะขอใช้มุมๆ นึง ของสวัสดีแอคชัวรีมาแบ่งปันกันตรงนี้ครับ

“The happiest of people don't necessarily have the best of everything; they just make the best of everything that comes along their way”
สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการได้ร่วมงานกับผู้คนมากมายหลากหลายเชื้อชาติ นั่นก็คือ คนที่มีความสุขที่สุดในโลกไม่ใช่คนที่ร่ำรวย (ใช่ว่าผมเคยลองรวยมาแล้ว แต่ก็รู้ว่ารวยมากๆ ก็ใช่ว่าจะมีความสุข) และคนที่มีความสุขที่สุดในโลกก็ไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จ (ก็ใช่ว่าผมจะเคยประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุดอีก แต่ก็ได้สัมผัสความรู้สึกที่ว่ายิ่งสูงก็ยิ่งหนาวอยู่บ่อยๆ)

“He who knows he has enough is rich”


แต่ผมเชื่อว่าคนที่มีความสุขก็คือ คนที่มีความสบายใจเท่านั้นเอง และก็มีคนเคยพูดให้ผมฟังว่าความสุขมันขึ้นกับ state of the mind เท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าคิดว่าตัวเองมีความสุข มันก็มีความสุข

“Happiness is not a commodity that is found by pursuit. Instead, it is a state of mind produced by a positive attitude”

และความหมายของความสบายใจก็คือ
1. เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น เชื่อว่าคุณมีดี คุณน่าคบหา และคุณทำได้
2. รู้จักตัวเอง ยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเอง และพร้อมจะปรับปรุงเสมอ
3. ไม่ดื้อดึง ถ้าวันวานคุณเคยทำผิดพลาด คุณก็ยินยอมเปลี่ยนแปลงและรับฟังคนอื่น
4. เห็นค่าของตัวเอง คุณไม่คิดว่าตัวเองช่างไร้ค่า คุณจึงมีความสุขในใจเสมอ
5. วิ่งหนีความทุกข์ เมื่อรู้ตัวว่าตกลงไปในความทุกข์ คุณก็รีบหาทางหลุดพ้น ไม่จมอยู่กับมัน
6. กล้าหาญเสมอ คุณกล้าเปลี่ยนแปลงและกล้ารับมือกับสิ่งแปลกใหม่หรือปัญหาต่างๆ
7. มีความฝันใฝ่ เมื่อชีวิตมีจุดหมาย คุณก็จะเดินไปบนถนนชีวิตอย่างมีความหวัง ไม่เลื่อนลอย
8. มีน้ำใจอาทร คุณพบความสุขในใจเสมอถ้าเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
9. นับถือตัวเอง ไม่ดูถูกตัวเองด้วยการลดคุณค่าและทำในสิ่งที่เสื่อมเสียต่อตัวเอง
10. เติมสีสัน สร้างรอยยิ้มให้ชีวิตของคุณและคนรอบข้าง รู้จักหยอกล้อคนอื่น ๆ และตัวเองด้วย

ความสุขนั้นคือพอใจกับวิถีชีวิตของตัวเอง และวางฝันของตัวเองตามกำลังที่ตนทำได้ (Plan for the worst and hope for the best) การได้รับวัตถุและความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำให้เราพึงพอใจและยกระดับฐานะของเราเองเท่านั้น เป็นการสร้างเสริมความสุขเพียงภายนอก และมันก็ไม่ได้อยู่กับเราอย่างมั่นคงถาวรตลอดไป

เพราะคนเรานั้นย่อมมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเสมออย่างไม่มีวันหยุดนิ่ง เหมือนการไต่เขายอดเขาขึ้นไปได้จนสำเร็จไปหนึ่งลูก พอมองเห็นยอดเขาอีกลูกหนึ่ง ก็อยากจะไปพิชิตยอดเขาหรือไขว่คว้าทำให้ได้อีก แต่การปีนขึ้นเขาแต่ละลูกนั้นใช่ว่าจะต้องก้มหน้าก้มตาปีนขึ้นไป โดยไม่หันไปมองทางไหนนอกจากทางข้างหน้า พยายามเพียงเพื่อจะขึ้นไปให้ถึงยอดเขาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราพลาดโอกาสหลายๆ อย่าง เพราะระหว่างทางขึ้นเขานั้นยังมีธรรมชาติอันสวยงามให้เราเพลิดเพลินไปตลอดทางได้อีก

“Life is not measured by the number of breaths we take, but by the moments that takes our breath away”

และก็เคยมีบางคนถามว่า ทำไมตอนที่ผมจบได้เป็น FSA แล้วก็ยังดิ้นรนเรียนอย่างอื่นต่ออีก อันนี้ผมว่าไม่เกี่ยวกันครับ ผมถือว่าความรู้สามารถเรียนกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ระหว่างเรียนนั้นเราก็สนุกไปกับการเรียนรู้และก็แบ่งเวลาไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้าง แล้วการเป็น FSA ก็ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางแห่งวิชาชีพเท่านั้น ยังมีสิ่งต่างๆ มากมายรอคอยให้ฟันฝ่าอยู่ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกิเลสของความอยากวิชาก็ได้ อันนี้ก็ต้องอาจจะต้องเพลาๆ กันบ้างครับ ถ้ามันทำให้ถึงกับต้องล้มป่วยกันไป

จะเห็นได้ว่าความสุขที่แท้จริงเกิดจากข้างในจิตใจของคนเรา และถ้าจิตใจของเรานั้นไม่ว่าง เต็มไปด้วยอารมณ์อันตรายต่าง ๆ ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง เพราะผมเชื่อว่าความสุขนั้นมักเกิดขึ้นท่ามกลางความสงบเสมอ

ชีวิตของคนเรานั้นไม่ได้ยืนยาวนัก เราไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เราสามารถหาความสุขให้ตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องมุ่งหวังยามแก่เฒ่า ค่อยอยู่อย่างสงบสุขอย่างที่หลายคนเชื่อกัน

เราจะสามารถมีความสุขที่สุดในโลกได้ ในตอนนี้ ถ้าเราเริ่มจากตัวเราเอง !!!

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยกเลิกกิจกรรมทุกอย่าง เลิกสอบ เลิกขยันทำงาน เลิกฝัน เลิกไขว่คว้า หรือ เลิกหวังไปเลยเสียทีเดียว เพียงแต่เราจำต้องมีสติ มีปัญญา และรู้ตัวให้พอเหมาะสม ผมยังคงเชื่ออยู่เสมอว่าการเดินทางสายกลางนั้นดีที่สุด บริหารเวลาให้สมดุลกับการงาน การเรียนรู้ สุขภาพ และครอบครัว โดยทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ แล้วก็ยิ้มรับกับผลลัพธ์ที่มันจะออกมา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะผ่านหรือตก ขอให้พยายามอย่างเต็มที่ จะได้ไม่เสียใจในภายหลังก็พอ

การเดินทางสายกลางนั้นจึงต่างกับการไม่ทะเยอทะยานหรือไม่พยายามทำดูก่อนเลย ยังไงซะ เราก็ควรพยายามทำให้ดีที่สุดก่อน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วสำหรับแอคชัวรีที่ยังไม่เคยสอบ เรามาน็้Dลองสอบกันดูซักตั้งจะดีมั๊ยครับ

“Anyone who stops learning is old, whether at twenty or eighty. Anyone who keeps learning stays young. The greatest thing in life is to keep your mind young”

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

10 เหตุผล เพื่อการตัดสินใจเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

10 เหตุผล เพื่อการตัดสินใจเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
1. คุณไม่ต้องการเรียนต่อในระบบมหาวิทยาลัย
2. คุณต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพหนึ่ง ที่ไม่ใช่แพทย์ นักกฎหมาย หรือนักบัญชี
3. คุณต้องการอาชีพที่ไม่หยุดนิ่งและท้าทาย
4. คุณต้องการอาชีพที่คุณควบคุมได้ ความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับความสามารถจริงๆ
5. คุณต้องการอาชีพที่เปิดโอกาสมากมายที่จะให้คุณนำทักษะที่มีไปปรับใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม
6. คุณต้องการอาชีพที่มีความมั่นคง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบ
7. คุณอยากมีรายได้ขณะเรียน
8. คุณต้องการเลือกงานที่มีข้อเสนอที่โดดเด่น
9. คุณเป็นคนที่กระตือรือร้น มีเป้าหมาย เก่งคณิตศาสตร์ และมีทักษะการสื่อสารดี
10. คุณต้องการเงินเดือนสูงๆ และผลตอบแทนดีๆ
ข้อมูลอ้างอิง: http://www.beanactuary.org/hs/topten.cfm.


การเตรียมตัวสู่การเป็นแอคชัวรี
ผู้ที่จะเข้าสู่สายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี เนื่องจากงานที่ทำต้องเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ รวมทั้งยังต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเป็นอย่างดี มีความกระตือรือร้น มีเหตุผล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการตัดสินใจ

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในอนาคต ควรเป็นผู้ที่มีใจรักคณิตศาสตร์ และสอบได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าคะแนนเฉลี่ย สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็ควรเลือกเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไว้หลายๆ วิชา ตลอดช่วง 4 ปี โดยเฉพาะวิชาพีชคณิตและการประยุกต์ ควรมีเวลาฝึกฝนให้มาก นอกจากนี้ ควรเลือกเรียนวิชาทางแคลคูลัส วิชาความน่าจะเป็น และสถิติด้วย

การเรียนในเมืองไทยนั้น การเตรียมตัวที่ดีที่สุดเพื่อเข้าสู่สายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ ในระดับปริญญาตรีควรเลือกเรียนวิชาเอกทางด้านประกันภัย คณิตศาสตร์ หรือสถิติ หรือวิชาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ หรือเรียนวิชาเอกทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีวิชาโททางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือคณิตศาสตร์ หรือสถิติ ซึ่งปัจจุบันในเมืองไทยมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และหากจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทก็จะมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรงในระดับปริญญาโท ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ที่เปิดสอนวิชาเอกทางด้านประกันภัยนั้น จะเน้นหลักการทั่วไปของการประกันภัยทั้งในส่วนของการประกันวินาศภัยและการประกันชีวิต มากกว่าการเน้นไปทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรง อย่างไรก็ตาม อาจมีการสอนหลักพื้นฐานในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นบางรายวิชา ส่วนการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทนั้น จะเน้นทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรง

การเตรียมตัวที่ดีในด้านการศึกษานั้น ถือเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในอนาคต ซึ่งนอกจากการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทแล้ว การเตรียมตัวเพื่อเข้าสอบรับรองมาตรฐานสากลในสายงานอาชีพนี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยในต่างประเทศ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถทำงานได้ทั่วโลก จะต้องผ่านการสอบเพื่อรับรองมาตรฐานจากสมาคมชั้นนำด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ตามสายงานด้านประกันภัยที่ตนเองสนใจหรือประกอบอาชีพในด้านนั้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาจะมีการจัดสอบเพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้แก่ การสอบกับ CAS (Casualty Actuarial Society) ซึ่งเป็นสมาคมสำหรับนักคณิตศาสตร์ด้านประกันวินาศภัย หรือการสอบกับ SOA (Society of Actuaries) ซึ่งเป็นสมาคมสำหรับนักคณิตศาสตร์ด้านประกันชีวิต เป็นต้น โดยการสอบนี้สามารถทำควบคู่ไปได้ขณะที่เรากำลังเรียนอยู่ และสามารถสอบเพื่อรับรองมาตรฐานนี้ได้โดยผ่านศูนย์สอบที่มีอยู่ในประเทศไทย

รายละเอียดในการสอบต่างๆ ของ CAS และ SOA สามารถดูได้จากเว็บไซต์
 http://www.casact.org/ และ http://www.soa.org/ ตามลำดับ

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

วิธีการรับปริญญาแบบฉบับฮ่องกง

ตอนนี้คงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของน้องๆ หลายคนที่จบการศึกษาไม่ว่าจะระดับปริญญาตรี โท หรือ เอก ซึ่งเห็นแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้กับความตั้งใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองให้เป็นที่ต้องการในตลาดได้ และเมื่อผมลองนึกย้อนกลับไปคิดถึงอดีตของตัวเองตอนที่อยู่ฮ่องกงทำงานไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วย กว่าจะจบได้ก็เล่นเอาเหนื่อยหอบกันทีเดียว
ในวันที่รับปริญญากันในฮ่องกงจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ สำหรับอากาศของฮ่องกงในเดือนนั้นแล้วมันเหมาะกับการใส่ชุดครุยรับปริญญาซะมากกว่า เพราะขืนมัวให้ใส่ในหน้าร้อนหรือหน้าฝนก็คงจะไม่ไหว ยิ่งฮ่องกงมีพื้นที่เล็กๆ เบียดกันจนแทบจะหายใจไม่ออกอยู่ด้วย ดังนั้นอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จะสบายๆ อยู่ที่ 21 24 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายรูปเพื่อรับปริญญามากที่สุด
แต่ถึงกระนั้น พิธีรับปริญญาที่ฮ่องกงก็ช่างง่ายดายจนแทบไม่มีอะไรซะเลย  เพื่อนๆ ในฮ่องกงก็ทำงานกันปกติจนถึงเวลาพักเที่ยง กินข้าวเสร็จก็เดินตัวปลิวถือถุงพลาสติกที่ใส่ชุดครุยไว้ แล้วก็นั่งรถไฟฟ้าไปมหาวิทยาลัย

เตรียมตัวกันก่อนวันรับปริญญา
เริ่มแรกก็คือเรื่องเสื้อครุยที่จะต้องไปเช่าหรือตัดซื้อจากข้างนอก ซึ่งชุดครุยแบบสวมทับนี้ถูกกว่าที่คิด มีแค่สามชิ้นแล้วก็ให้เช่าได้ 10 สัปดาห์ในราคาเพียงไม่กี่ร้อยเหรียญฮ่องกง (ตกเป็นเงินไทยยังไม่ถึง 1,500 บาท)
จากนั้นก็มาเป็นตารางเวลาในการรับปริญญาของแต่ละมหาวิทยาลัย และของแต่ละคณะ ซึ่งก็ทราบกันอยู่แล้วว่าพื้นที่ฮ่องกงนั้นเล็กมาก ดังนั้นการรับปริญญาของแต่ละคณะจึงถูกแบ่งซอยย่อยออกเป็นรายสัปดาห์เลย แล้วก็ไม่มีวันเสาร์กับวันอาทิตย์ มีแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น
คณะวิศวกรรมการเงินที่ผมจบมานั้นส่วนใหญ่จะโดนวันพฤหัส นั่นก็หมายความว่าพวกเราต้องลาหยุดเพื่อไปรับปริญญา ผมซึ่งเป็นคนไทยก็จะเห็นว่าการรับปริญญานั้นต้องเตรียมตัวกันอย่างมาก ก็เลยถามหาวันซ้อมรับปริญญา เพราะไม่เห็นว่าจะมีในตารางเวลา แต่ผมกลับได้คำตอบจากเพื่อนคนฮ่องกงว่า  ซ้อมรับปริญญานั้นคืออะไรเหรอ ทำไมต้องซ้อมด้วย แค่จะไปรับยังไม่รู้ว่าจะไปดีหรือเปล่าเลย
ผมกลับได้คำตอบจากเพื่อนคนฮ่องกงว่า  ซ้อมรับปริญญานั้นคืออะไรเหรอ ทำไมต้องซ้อมด้วย แค่จะไปรับยังไม่รู้ว่าจะไปดีหรือเปล่าเลย


ไม่มีวันซ้อมรับปริญญา
ไม่ใช่เพื่อนผมที่แปลกหรอกครับ ผมต่างหากที่แปลกในสายตาของคนฮ่องกง เพราะเราเห็นว่าการรับปริญญานั้นจะมีอยู่เพียงครั้งเดียว อุตส่าห์ทุ่มแรงทุ่มใจเรียนไปตั้งนาน วันรับปริญญาก็คือวันที่เราเฝ้ารอ แต่เพื่อนๆ คนฮ่องกง (หมายถึงคนที่เป็นคนฮ่องกงจริงๆ ไม่ใช่นักเรียนจากต่างประเทศแบบผม) กลับมองเป็นว่ามันเป็นเรื่องที่เสียเวลางาน  ซึ่งประมาณหนึ่งในสี่ของเพื่อนๆ ที่จบด้วยกัน ก็จะไม่มากันในวันรับปริญญาครับ แต่กลับนัดเพื่อนๆ ในกลุ่มเพื่อถ่ายรูปหมู่กันเองในวันที่เค้าไม่ต้องไปทำงาน เช่น วันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เป็นต้น
คนที่นี่ รวมทั้งผมนั้น เวลานัดก็นัดกันหลายสัปดาห์ด้วย เช่นสัปดาห์แรกนัดกับญาติพี่น้อง สัปดาห์ที่สองนัดกับเพื่อนที่เรียนจบมาด้วยกัน สัปดาห์ที่สามก็ค่อยนัดกับเพื่อนในที่ทำงานในบริษัท สัปดาห์ถัดมาก็นัดกับเพื่อนในวงการอาชีพเดียวกัน
สิ่งที่ผมมองไปในแนวคิดของคนฮ่องกงนั้นก็คือเค้าไม่ชอบอะไรที่เป็นพิธีรีตอง ยิ่งถ้ากระทบเวลางานของเค้าด้วยล่ะก็ เค้าจะให้ความสำคัญกับงานที่เค้ารับผิดชอบก่อน เพราะเค้าบอกว่าไปพิธีรับปริญญาก็ไม่ได้ช่วยให้เค้าก้าวหน้าอะไรขึ้นมา
กล่อมกันไปกล่อมกันมา ผมก็เริ่มเออออห่อหมกไปกับเค้าด้วย แทนที่จะลาหยุดทั้งวันก็ขอลาเป็นครึ่งวันแทน ประมาณว่าทำงานกินข้าวเที่ยงเสร็จปุ๊ป ก็จะถือชุดครุยใส่ถุงพลาสติกแล้วก็นั่งรถไฟฟ้าไปมหาวิทยาลัยในตอนบ่าย เอาแบบให้เฉียดเวลาตอนเริ่มพิธีให้ฉิวๆ เลย ประมาณว่าถ้าไปไม่ทันก็อดรับ

วันจริง
พอถึงมหาวิทยาลัยแล้วก็รีบแปลงร่างใส่ครุยสีดำ และก็ใส่หมวกซะหน่อย แต่งตัวอีกนิด จากนั้นก็ไปยื่นคูปองบัตรคิวเพื่อลงทะเบียน คูปองนี้เค้าจะส่งไปรษณีย์มาให้ที่บ้านพร้อมกับให้โควตาของผู้ติดตามเพื่อให้เข้าไปนั่งในห้องประชุมได้อีกหนึ่งคน
เมื่อยื่นคูปองลงทะเบียนแล้ว ก็ยืนรอหน้าห้องประชุม ซึ่งทุกอย่างของที่นี่เป็นบาร์โค้ดหมดครับ เอาเครื่องสแกนแล้วก็เดินเข้าหอประชุมไปเลย รายชื่อก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หมด แล้วพอถึงช่วงเวลาประกาศชื่อ เราก็แค่ไปทาบบัตร ก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีเพื่อให้ชื่อเราปรากฏบนจออีกทีจะได้ให้คนอ่านประกาศชื่อได้ถูกต้อง ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีการเรียกชื่อกันผิด ไม่ต้องซ้อมรับปริญญาหรือคอยมานั่งนับว่าเพื่อนข้างๆ เราจะอยู่มั๊ย

 เอาเครื่องสแกนแล้วก็เดินเข้าหอประชุมไปเลย รายชื่อก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หมด แล้วพอเวลาประกาศชื่อ เราก็แค่ไปทาบบัตรก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีเพื่อให้ชื่อเราปรากฏบนจออีกทีจะได้ให้คนอ่านประกาศชื่อได้ถูกต้อง

ซึ่งแน่นอนว่าก่อนที่จะมีการเดินขึ้นไปบนเวที ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดงานโดยมีตัวแทนนักเรียนขึ้นไปกล่าวอำลาให้เป็นพิธี แล้วก็มีการมอบตำแหน่งอาจารย์ดีเด่น นักเรียนดีเด่น รวมถึงการมอบปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตให้ โดยในปีนั้นก็มี เจ้าของ Hopewell ซึ่งอายุ 80 กว่าปีเป็นคนรับไป ที่จำได้เพราะท่านเคยมากล่าวปาฐกถาเรื่องการทำธุรกิจของ Hopewell (หนึ่งในธุรกิจที่มีก็คือกิจการทางด่วนในเมืองไทย) ให้กับนักเรียน MBA ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้เข้าไปนั่งฟังด้วย
แล้วช่วงจังหวะบนเวทีนั้นเอง ก็เป็นแค่การจับมือ มีการถ่ายวีดีโอ แต่ไม่มีการถ่ายรูปบนเวที แล้วก็เดินลงตัวเปล่า ถือหมวกใบเดิมไว้แก้เขิน เพราะว่าใบปริญญาจริงๆ เค้าจะให้ไปรับอีกทีกับสำนักทะเบียนหลังจากนี้อีกประมาณสองสัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งไปรับเองกับสำนักทะเบียน หรือไม่ก็ให้เขาส่งไปรษณีย์ตามหลังไปให้ก็ได้
จบแล้วก็ตัวใครตัวมันครับ พิธีทุกอย่างเสร็จภายใน 2 ชั่วโมง เป็นอันว่าพิธีก็จบครับ นี่ยังดีที่ตอนนั้นบอกให้คนที่บ้านในกรุงเทพไม่ต้องบินมา เพราะผมจะบินกลับไปเอง

บินกลับไปหาครอบครัว
เนื่องจากชุดครุยที่เช่าไว้ก็มีเวลาให้ใช้ถึง 10 สัปดาห์ ปกติคนที่นี่ก็เลยวางแผนทยอยกันถ่ายรูปในช่วงวันเสาร์หรืออาทิตย์ ผมก็เลยได้มีสิทธิ์ถ่ายรูปกับเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานที่ฮ่องกงก่อน จากนั้นค่อยบินกลับเมืองไทยหิ้วชุดครุยไปถ่ายรูปกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เมืองไทยทีหลัง
สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การกลับมาที่บ้านของเราเองที่เมืองไทย เพื่อเก็บภาพที่ระลึกไว้กับครอบครัว ซึ่งจะเห็นได้จากในภาพว่าทุกคนยิ้มแย้มดีใจกับความสำเร็จของคนที่ได้จบปริญญากันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตัวเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนเก่าๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมาในเมืองไทย เรียกได้ว่าชุดครุยที่เช่ามานี้ได้ถูกใช้อย่างสุดคุ้ม

ข้อคิดหลังรับปริญญา
อย่างไรก็ตาม หลังจากเรียนจบปริญญาใบนี้มาแล้ว ทำให้เป็นการตอกย้ำความในใจขึ้นว่า ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเก่งขึ้นหรือดูสูงส่งขึ้นเลย หากแต่มันเป็นเพียงแค่สิ่งๆ หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเพียรมานะอุตสาหะของคนที่เลือกประกอบวิชาชีพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต ในส่วนตัวแล้วผมถือว่ามันเป็นรางวัลชิ้นหนึ่งที่ช่วยทำให้คนรอบข้างเราภูมิใจและดีใจกับสิ่งที่เราไขว่คว้ามา เพราะเค้าหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จจากมัน

ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเก่งขึ้นหรือดูสูงส่งขึ้นเลย หากแต่มันเป็นเพียงแค่สิ่งๆ หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเพียรมานะอุตสาหะของคนที่เลือกประกอบวิชาชีพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตการทำงานที่ได้สัมผัสจากการทำงานในหลายๆ ประเทศแล้วนั้น ก็เป็นตัวยืนยันที่บอกได้ว่า ปริญญามันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่าคนฮ่องกงจะให้ความสำคัญของปริญญาน้อยกว่าคนไทยบางคน โดยเฉพาะน้องๆ ที่เรียบจบมาใหม่ๆ ที่มองเห็นปริญญาว่าเป็นตัวการันตีแห่งความสำเร็จของหน้าที่การงาน คนฮ่องกงส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเรียนปริญญาโทไปด้วย ทำงานไปด้วย เพราะเค้าถือว่าประสบการณ์ในการทำงานเท่านั้น ที่จะนับความมีคุณค่าของสายวิชาชีพ
เวลาสัมภาษณ์งานคนฮ่องกงเค้าจะไม่ถามเราว่าเราจบปริญญาอะไรมาบ้าง แต่เค้าจะถามว่าในชีวิตนี้คุณทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง อันนี้น่าเก็บเอาไปคิดต่อนะครับ เพราะมันบ่งบอกถึงสิ่งที่คนสัมภาษณ์ว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันในการสัมภาษณ์งาน

สู้ต่อไป
หลังจากรับปริญญาทางด้านวิศวกรรมการเงินแล้ว ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อ MBA ภาคค่ำเพื่อให้ได้ความรู้ในอีกมิติหรือมุมมองในอีกรูปแบบนึง ปริญญาโทใบแรกเป็นแบบเฉพาะทางด้านการเงิน (เชิงลึก) ส่วนใบที่สองที่เป็น MBA ก็จะมุ่งเน้นการจัดการแทน (เชิงกว้าง) โดยที่ตัดสินใจไปก็เพราะอยากจะเรียนเอาสนุก เรียนเพื่อจะได้มีโอกาสสังเกตความคิดของเพื่อนๆ ในอีกกลุ่มหนึ่งและในอีกมุมหนึ่ง  การเรียนปริญญาโทใบที่สองนี้ก็ใช้เวลาอีกถึง 2 ปี ก็เลยตั้งเป้าว่าจะไม่หวังเรียนเพื่อเอาเกรด แต่จะเรียนเพื่อเจียระไนความคิดของตัวเองให้ตกผลึกเป็นตัวของตัวเราเองยิ่งขึ้น แล้วผมก็ได้สังเกตเห็นมีเพื่อนในชั้นเรียน MBA หลายๆ คนที่มีวัตถุประสงค์คล้ายๆ กับของผม ทำให้เราเรียนแบบแลกเปลี่ยนแนวความคิดกัน การเรียนก็เลยยิ่งสนุกมากยิ่งขึ้น
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

คุยกับแอคชัวรี - ทำไมถึงเกลียดเลข

เห็นว่าสวัสดีแอคชัวรีได้มีไอเดียอยากจะให้วารสารสวัสดีแอคชัวรีได้มีโอกาสให้ผู้อ่านได้เขียนจดหมายตอบโต้กันบ้าง ผมจึงอยากเขียนหัวข้อเพิ่มเติมในสวัสดีแอคชัวรี ซึ่งก็เลยถือโอกาสมาเขียนเรื่องเล่าสู่กันฟัง โดยทางทีมงานอยากจะได้คำถามจากผู้อ่านทั้งในวารสารที่ตีพิมพ์จริงหรือจากในเว็ปไซด์ของเรา ที่ถามเรื่องอะไรก็ได้ ไม่เกี่ยงว่าจะมีสาระมากหรือน้อย หรือน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้แอคชัวรีตอบคำถามในมุมมองของแอคชัวรีกันดู

บางคำถามก็มีที่เกี่ยวกับการเคลมของประกัน หรือการซื้อประกัน และก็มีอีกหลายคำถามที่เกี่ยวกับการอยากจะเป็นแอคชัวรี แต่คราวนี้อยากจะหักมุมมาขอเริ่มประเด็นที่ผู้อ่านบางคนมีคำถามค้างคาใจอยู่ตั้งแต่สมัยเด็ก

สำหรับคนที่ไม่ชอบวิชาเลข หรือเวลาเห็นตัวเลขทีไรก็จะปวดหัว มึนตึ้บ รู้สึกเหมือนมีอาถรรพ์อะไรมาเข้าสิง ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เคยถามตัวเองมั๊ยครับว่า ทำไมถึงเกลียดเลข ทำไมต้องมีคณิตศาสตร์ให้เรียน คณิตศาสตร์คืออะไร ทำยังไงถึงจะทำเลขเก่งขึ้น ผมเองก็เคยประสบกับปัญหาเหล่านี้เมื่อตอนที่เป็นเด็กอยู่เหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าการจะชอบอะไรสักอย่างหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสุขอยู่กับสิ่งที่กำลังจะทำอยู่หรือไม่ การจะทำอะไรหรือเรียนวิชาใดๆ ให้ดีนั้น คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความรู้สึกชอบสิ่งนั้นๆ หรือวิชานั้นๆ ก่อน แล้วการที่คนเรียนจะไปชอบวิชาไหนๆ นั้นก็มีส่วนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรวมถึงพี่เลี้ยง เจ้านาย หรือครูคนที่สอนวิชานั้นๆ อยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางคนบอกว่าไม่ชอบครูสอนเลข แต่ก็ชอบวิชาเลขอยู่ อันนี้ก็มีให้เห็นถมไป

การที่เราจะชอบสิ่งนั้นๆ วิชานั้นๆ หรือคนๆ นั้นหรือไม่ ส่วนหนึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับใจของเราอยู่เหมือนกัน และก็แน่นอนว่าเราคงจะไปบังคับจิตใจของเราเองจากเกลียดให้กลายเป็นชอบนั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้ในชั่วค่ำคืน แต่เราคงจะแย้งว่าได้ว่าไม่มีมิตรหรือศัตรูที่อยู่ถาวรในโลกแห่งความเป็นจริง เดือนนี้เกลียดแต่เดือนหน้าอาจจะชอบก็ได้ หรือบางคนยิ่งเกลียดยิ่งรักก็มี แต่ยังไงก็ตาม การเปลี่ยนใจจากไม่ชอบให้เป็นชอบนั้นมันไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่ว่าเราจะสามารถหาเหตุผลมาเปลี่ยนใจของเราเองได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ก็คงต้องหาเหตุผลอย่างอื่นมาทำใจกัน จะอย่างไรซะ ทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความสุขใจก็เป็นพอ และการจะชอบหรือเกลียดนั้นก็ขึ้นกับสภาวะของจิตใจเรา (State of mind)

เราลองมาดูเหตุผลเกี่ยวกับความสนุกหรือความสำคัญของคณิตศาสตร์กันเถอะครับ เผื่อว่าจะเปลี่ยนทัศนคติกันได้ และผมก็เคยเปลี่ยนจากเกลียดเป็นชอบได้ด้วยเหตุผลเหล่านี้ครับ

ในมหาวิทยาลัยนั้น ภาควิชาคณิตศาสตร์นั้นจะอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเค้าถือว่าคณิตศาสตร์นั้นคือภาษาสำหรับวิทยาศาสตร์ทั้งปวงนั่นเอง อย่างโลกยุคดิจิตอลหรือในหนังเรื่อง Matrix ทั้งสามภาคนั้น ก็ล้วนแต่มีเลข 0 หรือ 1 กันทั้งนั้น หรือจริงๆ แล้ว โลกที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือ 0 กับ 1 อยู่นั่นเอง

คณิตศาสตร์นั้นไม่ต้องสร้างผ่านกระบวนการทดลองด้วย มันเป็นภาษาของมันอยู่เพื่อมีไว้ใช้สื่อสารในตัวของมันเอง มันเป็นภาษาที่อธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติได้อีกด้วย อย่างบางคนเห็นนกเดินๆ อยู่ดีๆ ก็อยากจะสร้างสมการ การเดินของนก ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งรับรองว่ามันต้องมีสูตรสมการแบบจำลองการเดินของนกอยู่แน่นอน (แต่จะทำไปทำไมกันล่ะ คนทำคงอยากรู้อยากเห็นจริงๆ)
การเรียนคณิตศาสตร์นั้นก็คงเป็นเหมือนภาษาอีกภาษาหนึ่งที่ต้องเรียน ซึ่งคงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาไทย ซึ่งภาษาอื่นๆ นั้นต้องฝึกฝนทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ภาษาคณิตศาสตร์นั้น แค่ฝึกฝนให้เขัาใจถึงหลักการและเหตุผลก็พอ เค้าว่ากันว่าถ้าฝึกภาษาของวิทยาศาสตร์อันนี้มากกว่า 5 ปีติดต่อกันแล้ว จะทำให้สมองได้รับการพัฒนาขึ้น คิดเป็นเหตุเป็นผลได้เร็วและแม่นยำขึ้น หรือเอาเป็นว่ามีหยักสมองที่มากขึ้นก็แล้วกันครับ

ฟังดูแล้วรู้สึกเหมือนจะง่ายขึ้นดี คณิตศาสตร์นั้นยิ่งเรียนจึงยิ่งฉลาดและเป็นพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์ที่เหลืออีกต่อไป แถมยังอาจเป็นพื้นฐานของภาษาอื่นๆ ได้อีกด้วย ที่เหลือก็แค่หัดฝึกฝนทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ให้ภาษานี้ซึมซับเข้าไปไว้ในสายเลือด แต่อย่าทำจนถึงกับกระอักเลือดออกมานะครับ เราควรจะเดินทางสายกลางกันไว้ดีกว่า ขอให้จิตใจเรามีความสุขไปกับมันแล้วมันจะชอบคุณเอง

คุณชอบวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นมาหรือยังครับ

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

สวัสดีจากโลกในทศวรรษหน้า

ไหนๆ ก็เป็นแอคชัวรีแล้ว ผมก็เลยมาลองคิดดูเล่นๆ ว่าในทศวรรษหน้านั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวของแอคชัวรีกันบ้าง ตอนแรกกะว่าจะเขียนถึง 100 ปีข้างหน้าเลย แต่เมื่อคิดๆ ดูแล้ว เดี๋ยวจะกลายเป็นหมอดูไปเสียเปล่าๆ เอาแค่ประมาณ 10 ปีข้างหน้าก็พอ เพราะยังพอเห็นภาพลางๆ อยู่ ซึ่งจะจริงไม่จริง ถูกต้อง 100% หรือไม่นั้น ก็คิดว่าอ่านกันเพลินๆ อย่าได้เก็บเอามาจริงจังก็แล้วกันครับ
เอาเป็นว่า ผมอยากให้เราทุกคนลองหมุนเวลามาอยู่ในปี 2020 กันดู (ซึ่งก็คือปี พ.ศ. 2563 ในปีปฏิทินไทย) แล้วทำเป็นมองย้อนหลังว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น และกำลังจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง ลองมาดูกันครับ
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเย็นวันหนึ่งในปี 2020
ตอนนี้ผมนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ที่วางอยู่ในสวนหลังบ้าน วันนี้ไม่ได้เข้าไปในออฟฟิศอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เป็นเพราะว่าปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ตัวเก่งของผมสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลนับล้านกรมธรรม์ของบริษัทได้ แถมยังสามารถจัดการกับระบบฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็วถูกต้องอีกด้วย ด้วยอารมณ์ที่อยากจะทำงานและปิดโปรเจคให้เสร็จจึงทำให้วันนี้ผมตัดสินใจขลุกอยู่กับบ้าน เผื่อว่าจะได้มีเวลาไปออกกำลังกายและใช้เวลากับครอบครัวได้เยอะๆ หลังจากเลิกงาน
งานกลับเสร็จไวและราบรื่นกว่าที่คิด ทำให้เหลือเวลามาเขียนสวัสดีแอคชัวรีฉบับที่ 55 ประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อปิดต้นฉบับให้เสร็จ ก่อนที่จะไปว่ายน้ำและเล่นกับลูกๆ ในตอนหัวค่ำ
ว่าแล้วก็นั่งคิดถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยยังเป็นแอคชัวรีหนุ่มๆ อยู่ มีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย ผมเลยเอามาเขียนใส่ในสวัสดีแอคชัวรีเหมือนเคย และเอาเป็นว่าตอนนี้ผมกำลังนั่งคิดว่าโลกใน 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2010 ถึง ตอนนี้) กำลังจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เราลองมาดูมุมของของแอคชัวรีคนนี้กันครับ
เศรษฐกิจในปี 2020
เศรษฐกิจโลกก็ค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2012 แต่ผลที่ตามมาก็คืออัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นมากกว่า 10% ต่อปีไปซะแล้ว เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาและประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศที่ได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาทางการเงินภายในของอเมริกาก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ คนที่ชอบเป็นหนี้ก็ยังเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิม กับเรื่อง subprime mortgage ก็ยังไม่น้อยหน้า เพราะยังแก้ปัญหากันไม่หมด
ประเทศจีนกับอินเดียกลับกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจโลกแทน แต่อย่างไรก็ตามประเทศทางแถบยุโรปและญี่ปุ่นก็คอยพยุงเศรษฐกิจกันอยู่อย่างต่อเนื่อง
ส่วนสภาพสังคมของประเทศกำลังพัฒนาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสังคมเดี่ยว ที่มีแต่ พ่อ แม่ และ ลูก ทำให้ผู้คนต่างๆ ทั่วโลกพากันนึกถึงเรื่องการเกษียณของตัวเองกันมากขึ้น
คนในยุคของ baby boomer ก็เข้าสู่ช่วงวัยเกษียณกันหมด โดยเฉพาะที่ในอเมริกาที่มีปัญหาเรื่องสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอเอาซะด้วย เนื่องจากพิษของเศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มมากระเตื้องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ก็ยังไม่ทันกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องใช้ในยามเกษียณ และยิ่งไปกว่านั้น ก็ดูเหมือนว่าคนสูงอายุเหล่านี้จะมีอายุยืนกว่าที่แอคชัวรีได้คำนวณไว้ จึงยังเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะรุนแรงและต่อเนื่องต่อไปอีก 10 ปีหลังจากนี้
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบริษัทหรือนายจ้างส่วนใหญ่จะเสนอแบบ Defined Contribution แทนที่จะเป็น Defined Benefit และก็อยากจะเปลี่ยนคนที่ถือแบบ Defined Benefit ให้เป็น Defined Contribution กันทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะบริษัทหรือนายจ้างจะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทางด้านการลงทุน เนื่องจาก Defined Contribution จะคล้ายๆ กับการลงทุนในกองทุนรวม ถ้าได้ก็ได้ ถ้าเสียก็เสีย ซึ่งแบบนี้ก็คงเหมือนกับแบบที่บริษัทในประเทศไทยได้ใช้กันเมื่อ 10 กว่าปีก่อนมาแล้ว ส่วน Defined Benefit ก็คงจะเปรียบเสมือนกับแบบบำเหน็จบำนาญของระบบราชการในประเทศไทยที่มีใช้กันมานมนาน
ในยุคนี้การออกแบบประกันชีวิตก็จะยากขึ้น เพราะกลุ่มคนในแต่ละยุคก็มีแนวโน้มของอัตรามรณะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ยุคของเด็กสมัยใหม่ที่คนทั่วไปเค้าเรียกว่า McDonald’s cohort กันตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ junk food และทำให้เป็นโรคอ้วนกันตั้งแต่เด็ก เพราะโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นจะทำให้เซลล์ไขมันขยายตัวเกินปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการลดน้ำหนักให้เหมาะสมเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วได้ยากมาก ซึ่งจะเห็นว่าอัตรามรณะของคนกลุ่มนี้ในยุคนี้จะแย่ลงเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน คนในยุค baby boomer ที่สนใจอยากจะซื้อประกันแบบบำนาญ หรือ annuity กลับจะมีสุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ส่งผลต่อ longevity risk ของการออกแบบประกันของคนในกลุ่มนี้เหมือนกัน
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องของ genetic testing หรือการตรวจสอบยีนส์กัน เพราะในสมัยนี้การตรวจสอบยีนส์ได้เป็นเรื่องธรรมดากันแล้ว แถมมีแนวโน้มว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนจะเริ่มหันมาตัดต่อพันธุกรรมกันตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะคลอดเสียอีก อยากเอาสีตาแบบไหน ผมมากผมน้อย หรือดั้งที่โด่งแค่ไหนก็เลือกได้ ซึ่งก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะตัดต่อยีนส์ของตับ ไต ไส้ พุง ให้เลิศแบบให้ใช้งานกันถึง 100 ปีก็ได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็คงขึ้นกับกำลังทุนทรัพย์ของพ่อแม่ของเด็กว่ามีมากแค่ไหน เพราะราคาค่าตัดต่อพันธุกรรมในสมัยนี้ก็คงจะแพงหูฉี่ แต่อีกไม่นานเกินรอหรอก ราคาการตัดต่อยีนส์คงจะถูกลงเรื่อยๆ
บริษัทประกันชีวิตตอนนี้กำลังเถียงกันว่า จะต้องขอผลของการตรวจยีนส์เพื่อมาประกอบการพิจารณารับประกันด้วยหรือไม่ แต่ถ้าลองมาคิดๆ ดูแล้ว สำหรับคนที่ไปตัดต่อพันธุกรรมมาเพื่อให้ได้ DNA ที่สุดยอดมาแล้วจะไม่ฉลาด (แถวบ้านเค้าเรียกว่า โง่) มาซื้อประกันทำไม ทำให้บริษัทตั้งคำถามว่าคนที่มาซื้อประกันกับบริษัทนั้น มีแต่คนที่ยีนส์ห่วยๆ กันทั้งนั้นหรือเปล่า ตอนนี้บริษัทก็กำลังมึนตึ้บอยู่กับเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งในหนทางที่บริษัทจะอยู่รอดได้ก็คือการขอตรวจพันธุกรรมของผู้เอาประกันในแต่ละคน โดยเฉพาะคนที่อาจจะทำประกันโรคมะเร็ง แต่อย่างนี้มันจะละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่าเนี่ย เรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกหลายปีแน่ๆ เลย
แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ข่าวดีจากนักวิทยาศาสตร์ว่าการวิวัฒนาการของโคลนนิ่งนั้นประสบความสำเร็จกับการใช้กับมนุษย์ได้แล้ว เดือนหน้าก็กำลังจะมีการประชุมสภาในการอนุญาตให้ทำโคลนนิ่งกันได้ในมนุษย์ จะโคลนนิ่งทั้งตัวหรือจะทำแค่อวัยวะเฉพาะส่วน เช่น หัวใจ ตับ หรือ ไต ก็ได้ ถ้าเสียก็เปลี่ยนเอา ตอนนี้กำลังออกแบบประกันให้คุ้มครองการเปลี่ยนหัวใจ กันได้อยู่ แต่เห็นแอคชัวรีบางคนแถวนี้บอกอยากเปลี่ยนแค่ใจก็พอ ไม่อยากมาเป็นแอคชัวรีแล้ว เพราะรู้ว่ายังมีเรื่องให้ปวดหัวอีกเยอะ
แค่เรื่องของการออกแบบประกันคงยังไม่พอ ลองมาดูเรื่องทางฝั่งงบการเงินของบริษัทบ้าง เพราะตอนนี้ทั่วโลกก็ได้เริ่มใช้ solvency II ขึ้นมาอย่างเต็มตัวหลายปีแล้ว ซึ่งใช้กันหมดในประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยใช้ principles-based approach ที่จะทำอะไรก็ทำตามความเข้าใจจริงๆ ในการจัดการความเสี่ยง (risk management) และจัดสรรเงินทุน (capital allocation)โดยแรกๆ ก็ขลุกขลักอยู่เหมือนกันเพราะนักวิเคราะห์ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปก็งงเป็นไก่ตาแตก ว่าทำไมสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทมันขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งกว่าน้ำในตลิ่งในวันข้างแรมที่ขึ้นลงตามวงโคจรของดวงจันทร์ ก็ต้องถือว่าโชคดีที่คอมพิวเตอร์ในยุคนี้มีประสิทธิภาพสุดเลิศที่สามารถคำนวณแบบจำลองต่างๆ ให้ละเอียดสุดๆ ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็คงใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะรันโปรแกรมให้เสร็จหนึ่งตัว แอคชัวรีในสมัยนี้ยังคงช็อคกับการต้องใช้โปรแกรมต่างๆ ให้คล่องมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
และสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ผ่านมาก็คงไม่พ้นเรื่อง IFRS (International Financial Reporting Standard) ที่ทางประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต้องนำมาใช้ในปี 2013 เป็นต้นมา ซึ่งจุดมุ่งหมายในการพัฒนาแบบมาตรฐานนี้ก็เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสและต้องการให้มีการหามูลค่าของสัญญาประกันภัยโดยเป็นค่าที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายให้ถ้ามีการซื้อขายหรือโอนถ่ายสัญญาตัวนี้จากบริษัทหนึ่งไปยังบริษัทหนึ่ง กล่าวง่ายๆ ก็คือ ถ้าต้องการเอาสัญญากรมธรรม์ไปขายให้คนอื่นอีกต่อหนึ่ง มูลค่าที่จะขายนั้นควรจะมีค่าเท่าไรนั่นเอง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหากับบริษัทประกันภัยในระยะแรกๆ ในการตกลงร่วมกันหาความเป็น”มาตรฐาน” ของ IFRS ตัวนี้
วกกลับมาทางฝั่งประกันวินาศภัยบ้าง โดยจะเห็นได้ว่า pricing margin ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก return on capital ของบริษัทประกันวินาศภัยมีค่าไม่ค่อยสู้ดีนักมานานเกือบทศวรรษ แต่ลูกค้าก็ยังคงเป็นพวก price sensitive ที่หาของถูกเข้าไว้ไม่มีเปลี่ยน ทำให้มีเว็ปไซด์ออนไลน์ที่คอยเปรียบเทียบราคาของเบี้ยประกันภัยในแต่ละบริษัทนั้นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
สิ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศทั่วโลกนั้นผันผวนและยากในการสร้างรูปแบบในการออกแบบประกันภัยและตั้งเงินสำรองสำหรับกรมธรรม์ของประกันวินาศภัยที่ต้องจ่ายเงินตามแต่สภาพของภูมิอากาศ
และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีนวัตกรรมในการออกแบบประกันแนวแปลกๆ เช่นรถยนต์อิเลคทรอนิคส์หรือแม้กระทั่งสินค้าที่มีบนอินเตอร์เน็ต ออกมาเป็นต้น

นึกแล้วทำให้อยากกลับไปเป็นแอคชัวรีในสมัยหนุ่มๆ ในปี 2010 อีกครั้งจังเลยครับ ตอนนั้นคิดว่ายากแล้ว แต่ตอนนี้คิดว่ายากกว่า ฮา....


โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand